ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลายวันก่อน “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” เปิด “8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย” ที่เป็นซีรีส์งานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลงานชิ้นล่าสุด โดยสรุปพบมีมากกว่าที่รายงานกันทั่วไปอย่างน้อย 25% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าแต่รายได้ครอบครัวไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าและคนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน
เรื่องนี้ “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เป็นผู้นำมาเปิดเผย
ซีรีส์งานวิจัยเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะทางสถาบันฯ ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของคนไทย จึงได้จัดทำซีรีส์งานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ
เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของสถาบันที่ใช้ชื่อว่า “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ซึ่งค้นพบ ข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ดีขึ้นเลย จาก 25 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่รายได้ส่วนที่ตกถึงครอบครัวไทยนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในแต่ละช่วงรายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน
“ปี 2529 ครอบครัวที่จนสุด 10% มีรายได้เฉลี่ย 1,429 บาทต่อเดือน ครอบครัวรวยสุด 10% เคยรายได้เฉลี่ยที่ 28,808 บาทต่อเดือน ผ่านมา 25ปี รายได้ครอบครัวรวยที่สุดโตขึ้น 3 เท่า เพิ่มเป็น 90,048 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ของครอบครัวจนที่สุดที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เท่า มีรายได้เฉลี่ยราวเดือนละ 4,266 บาท ขึ้นตามกลุ่มรายได้สูงไม่ทัน”
2.กลุ่มใหญ่ที่สุดในครอบครัวคนจน คือ ครอบครัวที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ใช่เกษตรกรอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป โดยครอบครัวคนชราที่มีอยู่ราว 40% มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ รองลงมาอีก 25% เป็นครอบครัวเกษตรกร อีกราว 6% เป็นครอบครัวอาชีพอิสระอย่างพ่อค้า แม่ค้า และในกลุ่มครอบครัวจนที่สุดมี 44% เป็นคนอีสาน อีก 30% อยู่ในภาคเหนือ คนกรุงเทพฯ น้อยมากเพียง 2% ส่วนกลุ่มครอบครัวรวยที่สุดเป็นครอบครัวประกอบอาชีพเฉพาะทางอย่าง หมอ หรือวิศวกร คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นเถ้าแก่ ที่สนใจคือราว 9% ของกลุ่มครอบครัวร่ำรวยเป็นเกษตรกรจากภาคใต้ แสดงว่าเกษตรกรไม่จำเป็นต้องจนเสมอไป
3.เกือบครึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ครอบครัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 23,000 บาท/เดือน แต่รายได้ที่ครอบครัวกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 1.1 ล้านครอบครัวได้รับนั้นอยู่ที่ราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน
4.ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงนั้นยิ่งแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25% โดยข้อมูลที่ใช้กันทั่วไปมาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อนำรายได้ครัวเรือนมารวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประมาณการรายได้ครัวเรือนทั้งประเทศเพื่อนำมาประมาณการจีดีพี พบรายได้ครัวเรือนไทยสูงถึง 7.3 ล้านล้านบาท แตกต่างกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท และหายไปราว 14% ของรายได้ครัวเรือนจากการสำรวจ
นอกจากนั้น การสำรวจไม่ได้ให้ภาพที่ครบถ้วนของฐานะการเงินครอบครัวคนรวย เห็นได้จากข้อมูลนิตยสาร Forbe รวบรวมมูลค่าทรัพย์สินของ 50 มหาเศรษฐีไทย สูงถึง 52,000 ล้านบาท รวยกว่าครอบครัวรวยที่สุดที่สำรวจมาซึ่งมีสินทรัพย์ 200 ล้านบาท ถึง 250 เท่า ขณะที่วารสารการเงินธนาคาร ระบุผู้ได้รับเงินปันผลหุ้นมากที่สุด 50 อันดับแรกเฉลี่ย 190 ล้านบาทต่อปี ทำให้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มจนที่สุด 20% และรวยที่สุด 20% เพิ่มขึ้นจาก 11 เท่าเป็น 14 เท่าหรือกว่า 25% และด้วยตัวเลขใหม่นี้จะทำให้อันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 157 ประเทศทั่วโลกยิ่งแย่ลงไปอีก คือ จากเดิมอยู่ที่อันดับ 121 จะตกไปอยู่ที่ลำดับ 135 ใกล้เคียงสวาซิแลนด์ และเอลซัลวาดอร์
5.ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก คือ อันดับ 162 จาก 174 ประเทศ
6.ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวสมาชิกสภาราษฎร (ส.ส.) รวยกว่าอีก 99.999% ของครอบครัวไทย โดยทรัพย์สินรวมของ ส.ส. 500 ครอบครัวมารวมกันเท่ากับ 40,000 ล้านบาท มากพอๆกับทรัพย์สินของ 2 ล้านครอบครัวรวมกัน ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าคนที่มีทรัพย์สินสุทธิอยู่กึ่งกลางถึง 9,000 เท่า ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่ต่างกัน 2,000 เท่า ฟิลิปปินส์ 600 เท่า อังกฤษ 50 เท่า ซึ่งการที่ผู้กำหนดนโยบายมีฐานะไม่ใกล้เคียงประชาชนส่วนใหญ่ที่พวกเขาเป็นตัวแทน นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ถูกแก้ไข
7.นอกจากรายได้และสินทรัพย์ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ของคนร่ำรวยที่มีโอกาสมากกว่าคนยากจน ดูได้จากคะแนน PISA ซึ่งประเมินผลสอบนานาชาติ ที่วัดกับเด็ก 15 ปีทั่วประเทศ พบว่าเด็กจากครอบครัวรวยที่สุด 20% มีโอกาสผ่านเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยวิชาเลขมากกว่าเด็กจากครอบครัวจนที่สุด 10% กว่า 2 เท่า
8.ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่ควรแก้ คือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนรายได้เท่ากัน แต่สิ่งที่ต้องทำและทำได้คือ จะต้องทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้นในการยกระดับรายได้ตัวเอง
งานศึกษาฉบับนี้ ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า “คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน”
หากย้อนกลับมาดู ข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สินช่วงเข้ามาทำงานการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ล่าสุดของนักการเมืองทุกๆฝ่าย ที่มีการเปิดเผย(เฉพาะทรัพย์สิน)
เริ่มจาก แกนนำ นปช. หรือคนเสื้อแดง เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 8,224,825.64 บาท นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แจ้งว่าตนเองมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 15,126,415 บาท นางรพีพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ภรรยานายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แจ้งว่าตนเองและคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 2,007,334 บาท นพ.เหวง โตจิราการ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ แจ้งว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 15,254,319 บาท
ส่วนแกนนำ กปปส.เช่น "กำนันสุเทพ" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งหมดรวมคู่สมรส รวม 210,139,734 บาท หรือ"ผู้ใหญ่สาทิตย์" นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งหมดรวมคู่สมรส 66,012,889 บาท นายชุมพล จุลใส แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งหมดรวมคู่สมรส 110,323,774 บาท นายถาวร เสนเนียม แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งหมดรวมคู่สมรส 105,978,037 บาท
แต่หากจะย้อนกลับอีก ไปดูถึงทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อตอกย้ำ ที่ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษา ศึกษาพบว่า ทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าชนชั้นกลาง 9,000 เท่า เป็นอย่างไร
เริ่มจาก นายชวน หลีกภัย เคยระบุว่ามีทรัพย์สิน 3.3 ล้านบาท สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 นายบรรหาร ศิลปะอาชา ตอนนั้นแจ้งว่า มีทรัพย์สิน 2,923 ล้านบาท พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ช่วงนั้นแจ้งว่า มีทรัพย์สินจำนวน 23 ล้านบาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แจ้งป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งนายกฯสมัยแรก มีทรัพย์สินจำนวน 569.1 ล้านบาท
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แจ้ง ป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่ง มีทรัพย์สิน 25.2 ล้านบาท นายสมัคร สุนทรเวช แจ้ง ป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งนายกฯ) ระบุว่ามีทรัพย์สินจำนวน 9 ล้านบาท นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แจ้งป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งนายกฯ ระบุว่ามีทรัพย์สิน 54.9 ล้านบาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาวะ แจ้ง ป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งนายกฯ มี ทรัพย์สิน 37 ล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แจ้ง ป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งนายกฯ ระบุว่ามีทรัพย์สิน 536,758,045 บาท
ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมภายหลังนายกรัฐมนตรี ต้องแจ้ง ป.ป.ช.หลังจากออกจากตำแหน่ง
ตามผลการศึกษา “สถาบันอนาคตไทยศึกษา” พบว่า การที่ผู้กำหนดนโยบายมีฐานะไม่ใกล้เคียงประชาชนส่วนใหญ่ที่พวกเขาเป็นตัวแทน นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังไม่ถูกแก้ไข