xs
xsm
sm
md
lg

โฉมหน้า “คู่ชิง” คนกลางใกล้คลอด “สุเทพ-ทักษิณ” รับได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การผลักดัน “คนกลาง” เข้ามาแก้ไขวิกฤตการเมือง 2 ขั้ว ระหว่าง ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นตัวแทนของระบอบทักษิณ กับ “มวลมหาประชาชน-พรรคประชาธิปัตย์” ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำใกล้ยุติแล้ว ชี้ 2 ใน 8 ที่ถูกเสนอชื่อเป็น “คนกลาง” กำลังได้รับแรงหนุนให้ “สุเทพ-ทักษิณ” รีบตัดสินใจ เชื่อถ้าทักษิณไม่รีบตอบรับเงื่อนไขทั้งเงื่อนเวลา และสเปกที่ กปปส.เสนอ จะต้องเผชิญวิกฤตหลังรักษาการ 180 วันครบกำหนด!

สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคแตกแยก เป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น หากขั้วรักษาการรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจที่จะใช้กำลังหรือความรุนแรงในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ ที่ผู้ชุมนุม กปปส.ทุกกลุ่ม ปักหลักเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณและยกระดับไปสู่การขับไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนเข้ามาดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้ปฏิบัติการคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จะยังไม่มีเหตุการณ์บานปลายก็ตาม แต่แกนนำ กปปส.ก็ไม่อาจไว้วางใจจึงได้สั่งให้ผู้ชุมนุมเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือการสลายการชุมนุมตลอดเวลา

ปลุกกระแส “คนกลาง” แก้วิกฤต

ขณะเดียวกันมีบุคคลสำคัญของบ้านเมือง ต่างก็เป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้ โดยผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมยึดพื้นที่ต่อไป ส่วนรักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงอ้างต้องอยู่ต่อไปเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยตามครรลองของกฎหมายเท่านั้น พร้อมๆ กับการที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการ ศรส. สั่งปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุม และใช้ยุทธวิธีไล่ล่ากลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุน กปปส. ทั้งในรูปนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของมวลชน กปปส.และกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่นเครือข่ายหมอ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ออกมาตีแผ่ความเลวร้ายของระบอบทักษิณและจี้ “ยิ่งลักษณ์” ลาออกเพื่อขอนายกฯ คนกลางพร้อมปฏิรูปประเทศต่อไป

ดังนั้นเมื่อคู่ขัดแย้งต่างฝ่ายต่างเดินหน้าโดยไม่มีใครยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว จึงมีกระแสเรียกหา “คนกลาง” เกิดขึ้นเป็นระลอก

โดยเฉพาะในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงปลุกกระแส “คนกลาง” ได้ดี และเหมาะที่สุด เพราะหากปล่อยให้เหตุการณ์ล่าช้าออกไปอีกประเทศชาติจะเสียหายมากที่สุด

ดังคำให้สัมภาษณ์ของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนกลางซึ่งได้รับการทาบทามหลังการปฏิวัติ รสช.เมื่อปี 2534 ว่า หากยังปล่อยให้ทะเลาะกันอย่างนี้อีก 3-4 เดือน ได้เห็นคนไทยจมน้ำตายกันหมด ดังนั้นคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายควรจะเจรจากันก่อนประเทศชาติจะหายนะ

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เขียนจดหมายถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชี้ให้เห็นถึงประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรักษาการรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ปล่อยให้มีการคอร์รัปชัน และการลุแก่อำนาจโดยไม่เคยฟังเสียงการทักท้วงของกลุ่มต่างๆ จนนำไปสู่ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวมหาศาลและกำลังจะทำให้เศรษฐกิจประเทศหายนะ จึงขอให้รักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีคนกลาง ซึ่งได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นเข้ามาปฏิรูปประเทศ และจะทำให้สามารถดึงตัวแทนทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็จะดำเนินการได้และเติบโตขึ้นตามมา

อีกทั้ง พล.อ.สายหยุด เกิดผล ในฐานะเลขาธิการกลุ่ม "รัฐบุคคล" ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับกลุ่มอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมไปถึงนักวิชาการที่เป็นมันสมองของประเทศก็ได้เสนอให้ "ผู้นำเหล่าทัพและประมุข 3 ศาล" เป็นคนกลางอาสาเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงถึงกระบวนการ ตามมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ

รวมไปถึง 7 องค์กรภาคเอกชนก็เคยเสนอเป็นคนกลางในการหาข้อสรุปเพื่อแก้วิกฤตการเมืองแต่สุดท้ายดูจะไร้ทางออก

แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังจะกลายไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงเวลาอันใกล้นี้ กระแส “รัฐบาลคนกลาง” หรือ “คนกลาง” เพื่อเจรจาคู่ขัดแย้งและผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

“สเปกของคนกลาง จะต้องเป็นบุคคลที่มีภาพพจน์ดี มีความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ต้องไม่ใช่นักการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อน เป็นที่ยอมรับ ไว้วางใจของทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งคุณสุเทพ ที่วันนี้ถือเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ไปในตัว และฝ่ายคุณทักษิณ แต่คนที่ถูกเอ่ยนามกันมาทำหน้าที่คนกลางนั้นดูจะเป็นไปได้ยากเพราะคนเหล่านี้มีจุดดำที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้”

“6 คนแรก” สอบไม่ผ่านในสายตา 2 ขั้วการเมือง

สำหรับคนที่ถูกจุดกระแสเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ คนกลาง ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน, นายพลากร สุวรรณรัฐ, ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือแม้แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่ที่ดูจะมีภาษีกว่าใครในปัจจุบันก็คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

เริ่มจากนายอานันท์ ปันยารชุน แม้จะมีความโดดเด่นที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนกลางคนแรกมาแล้ว สมัย รสช.ปฏิวัติยึดอำนาจ และที่ได้รับการทาบทามให้เป็นคนกลางเพราะความเชื่อใจและมั่นใจทั้งในเรื่องของภาพพจน์ดี มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็น ข้าราชการระดับสูงสุดในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นนักบริหาร นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะนายอานันท์ ปฏิเสธที่จะเข้ามาเป็น “คนกลาง” ด้วยวัย 81 ปี แต่เป็นเพราะ ชื่อของนายอานันท์ นั้นหากมีการเสนอขึ้นมา เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ต้องปฏิเสธเสียงแข็งแน่นอน

“คุณอานันท์เนียนมาก ลึกๆ แล้วเขาไม่ชอบคุณทักษิณเป็นการส่วนตัว และต่อต้านคุณทักษิณมาตลอด ทั้งในเรื่องวิธีการทำธุรกิจ การทำงานการเมือง รวมไปถึงนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะประชานิยมที่ใช้ในการบริหารประเทศ เรื่องนี้คุณทักษิณรู้ดี”

ดังนั้นหากให้คนกลาง หรือ นายกรัฐมนตรีคนกลาง เป็นนายอานันท์ จะไม่สามารถผ่านด่านพ.ต.ท.ทักษิณได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็จะสามารถโน้มน้าวให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เห็นชอบได้บ้างเพียงแต่อาจต้องใช้เวลา

“คุณอานันท์ก็ไม่ใช่คนที่จะยอมตามคุณสุเทพได้ง่ายๆ เพราะคุณอานันท์ก็รู้ว่าคุณสุเทพเป็นคนอย่างไร การที่คุณอานันท์มีหลักการ มีความมั่นใจ และภาพลักษณ์ที่โปร่งใสชัดเจน จึงไม่ใช่ชี้ไม้แล้วบอกว่านก…ก็จะนกตาม”

ตรงนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นายสุเทพปฏิเสธข้อเสนอจากพรรคประชาธิปัตย์และการเสนอชื่อคนกลาง เป็นนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เช่นกัน

คนที่ 2 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ชื่อนี้จะปรากฏให้เห็นทุกครั้งที่มีการอ้างอิงถึงกระบวนการ ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตาม ม.7 นั้นจะไม่เกิดขึ้นเพราะเคยมีความพยายามตั้งแต่สมัยการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แหล่งข่าวเล่าว่า ถ้าคนกลางเป็นนายพลากร เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ต้องการอีกเช่นกัน ไม่ใช่เพราะนายพลากรไม่มีความรู้ ความสามารถที่โดดเด่นในการบริหารประเทศ แต่เป็นเพราะว่า นายพลากร เคยมีปมขัดแย้งตั้งแต่สมัยเป็น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“เรื่องนี้เป็นปมปัญหาทางใจที่คุณทักษิณรู้ดี และเชื่อว่าจะไม่มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานเพราะด้วยเงื่อนของระเบียบ กฎหมาย ส่วนนายพลากรก็คงไม่อยากเปลืองตัวกับวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น”

ขณะที่นายสุเทพ หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธกับชื่อนายพลากร เพราะชื่อนายพลากร ก็พอจะรับได้ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รักษาการรัฐบาลต่อไปซึ่งเท่ากับว่าระบอบทักษิณยังคงอยู่ต่อไปเช่นกัน

“คุณสุเทพ และทีมวิชาการได้มีการจัดเตรียมวาระการปฏิรูปประเทศไว้แล้วส่วนหนึ่ง หากได้คนกลางเป็นคุณพลากร ทุกอย่างก็น่าจะเดินหน้าได้ แต่คุณพลากรก็ยังไม่ใช่สเปกที่คุณสุเทพและกปปส.ต้องการ”

คนที่ 3 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งชื่อนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ไม่เอาแน่นอน เพราะต่างรู้ดีว่า ดร.สุรินทร์ ก็คือคนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายครั้งก็ถูกเสนอชื่อมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คู่กับ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และยังเป็นที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ ยังเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มประชาคมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวแสดงพลังต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับล้างผิดให้คนโกง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้มวลมหาประชาชน กปปส.ออกมาขับไล่ระบอบทักษิณ และยกระดับเป็นขับไล่รักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ และรัฐบาลจนถึงปัจจุบันนี้

“ถ้าได้ ดร.สุรินทร์ คนประชาธิปัตย์ ก็คงจะพอใจ แต่พรรคเพื่อไทยไม่เอาแน่นอน”

คนที่ 4 ดร. วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง เป็นขุนพลและกุนซือด้านเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบรุษ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเรียกใช้ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาล พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็นรัฐมนตรีคลัง ในสมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นที่ปรึกษาของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

อย่างไรก็ดี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ดร.วีรพงษ์ มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และเป็นอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

และ ดร.โกร่งคนนี้อีกนั่นแหละในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าว พร้อมกับเขียนบทความแจกแจงว่านโยบายจำนำข้าวจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติเข้าสู่หายนะภายใต้การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเอง

ส่วนในสายตาของ ดร.โกร่ง ก็มองพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ออกมาเคลื่อนไหวบนถนน ด้วยการล้มการเลือกตั้งนั้น ว่าเป็นพรรคที่กลัวการเลือกตั้ง และจริงๆ แล้ว ศัตรูที่แท้จริงของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ใคร หรือพรรคไหน แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง เนื่องเพราะประชาธิปัตย์ไม่สามารถก้าวผ่านตัวบุคคลและยึดมั่นในระบอบเท่ากับพรรคเพื่อไทย

“ดร.โกร่ง ไม่ชอบแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ดังนั้นกรณีของ ดร.โกร่ง ถ้าจะให้มาเป็นคนกลาง เชื่อว่าคุณสุเทพไม่เอาแน่นอน ส่วนคุณทักษิณ ก็ต้องคุยเป็นการส่วนตัวกับ ดร.โกร่งในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถ้ายอมได้ก็จบ”

ดร.โกร่งจึงถูกตัดออกไปได้ง่ายอีกเช่นกัน เพราะต่างไม่เห็นด้วยกับการจะให้เข้ามาเป็น “คนกลาง” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคนกลาง หรือแค่เป็นกลาง ในการเจรจาเพื่อแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปก็ไม่สามารถสอบผ่านได้อยู่แล้ว แม้ว่าฝั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะแทงกั๊กก็ตาม
การนัดชุมนุมใหญ่ของ กปปส.
“ลูกปลื้ม” สกัด “หม่อมอุ๋ย” นั่งนายกฯคนกลาง

คนที่ 5 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย แม้จะโดดเด่นในด้านการบริหารเศรษฐกิจ เคยเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ก่อนมาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ. 2533 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน

เคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการปฏิวัติ คมช.เมื่อปี 2549

ขณะเดียวกัน หม่อมอุ๋ยได้ออกมาเตือนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่ามองการประท้วงแค่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ปลุกและดึงคนมาร่วมชุมนุม แล้วจึงตั้งป้อมสู้อย่างเดียว แต่ควรมองให้ลึกลงไปถึงการออกมาของมวลมหาประชาชนครั้งนี้ที่ไม่พอใจระบอบทักษิณ ที่มีจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มากกว่าสมัย 14 ตุลาคม 2516 ที่ไม่พอใจรัฐบาลถนอม-ประภาส ในยุคนั้น

แหล่งข่าวระบุว่า จุดที่จะเป็นตัวแตกหักที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย จะให้ หม่อมอุ๋ย เข้ามาเป็นคนกลางไม่ได้ ก็เพราะว่า หม่อมอุ๋ย ก็เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เขียนจดหมายเปิดผนึกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อเปิดโอกาสให้มีคนกลางเข้ามาแก้ปัญหา เพราะหากยิ่งลักษณ์ยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาการเมืองจะกระทบไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและเกิดหายนะได้ในไม่ช้า

“ใครจะยอมให้คนที่จี้น้องสาว หรือนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย มาเป็นคนกลาง เพราะเห็นชัดแล้วว่าหม่อมอุ๋ยมีเจตนาอะไร เขาต้องการมาเป็นนายกฯ คนกลาง เองก็ได้ เรื่องนี้คนในพรรคไม่ยอมเด็ดขาด เพราะเราก็ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ให้ได้ ไม่ใช่ให้คนไล่เรามาเป็นคนกลาง”

ส่วนนายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ อาจพอใจหม่อมอุ๋ย แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งพรรคชอบหม่อมอุ๋ย เพราะความจริงแล้วคนในพรรคประชาธิปัตย์เสียงแตก เพราะไม่มั่นใจว่าหม่อมอุ๋ยจะเทใจให้แท้จริง

“เรายังมีภาพของหม่อมปลื้ม (ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) ลูกชายหม่อมอุ๋ย เป็นคนเสื้อแดง”

โดยก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หม่อมปลื้ม มีบทบาทในการเสนอแนวคิดให้กับกลุ่ม นปช.และเคยออกมาตอบโต้เกี่ยวกับผังล้มเจ้าที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดทำขึ้นแทนกลุ่ม นปช.

ดังนั้นแม้ว่าหม่อมอุ๋ยจะเป็นบุคคลที่เข้าเงื่อนไขที่ กปปส.ต้องการทั้งในด้านความกล้า ความชัดเจน รู้เรื่องเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้ผู้นำที่มีความรู้เข้ามาแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังจะดิ่งลงก็ตาม

บทสรุปจึงมาอยู่ที่ว่า ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุเทพ ไม่มีทางที่จะยอมรับให้หม่อมอุ๋ยมาเป็นคนกลางเพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นเด็ดขาด

คนที่ 6 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แหล่งข่าวบอกว่า นายสุเทพ หรือแกนนำ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ให้ค่าขนาดที่จะยอมรับให้มาเป็นคนกลาง เพราะทุกคนก็รู้อยู่ว่า นายชัชชาติ เข้ามาโดยเป็นเด็กในคาถาที่นายใหญ่ นายหญิง ของพรรคเพื่อไทยต้องการให้เข้ามาสร้างภาพ เพราะเป็นบุคคลที่มีความรู้ในด้านวิศวกรรม เคยเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“คนที่เสนอชัชชาติขึ้นเป็นคนกลาง เขาคิดอะไร ปล่อยให้ลือกันไป ไม่มีใครเขาให้ค่านายชัชชาติกันหรอก”
2 ตัวเต็ง:ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์และดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
180 วันบีบ “ทักษิณ” เลือกคนกลาง

อย่างไรก็ดี ทั้ง 6 คนที่มีการเสนอชื่อมาเป็นคนกลาง ล้วนสอบไม่ผ่านในสายตาของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ขั้ว ส่งผลให้มีการผุดชื่ออีก 2 คนเข้ามาเพราะเชื่อว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากนี้ไป หากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้

แหล่งข่าวระบุว่า ทั้ง 6 คนที่กล่าวมานั้นไม่มีทางที่จะถูกเลือกมาเป็นคนกลาง หากวันนี้เงื่อนไขแรกที่ทั้ง 2 ขั้ว ซึ่งหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุเทพ สามารถสรุปกันได้ลงตัวก็จะมีการพิจารณาคนกลางที่เหลือต่อไป

“เงื่อนไขแรกคือคุณทักษิณ ต้องการให้คนกลางและสภาประชาชนอยู่แค่ 3-6 เดือน จากนั้นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที แต่คุณสุเทพ เดิมต้องการ 18 เดือนถึง 2 ปี แต่คิดว่าเงื่อนไขเวลาแบบนี้คุณทักษิณไม่ยอมแน่ จึงยอมรับได้ที่ 1 ปี หากตกลงกันได้ก็เดินหน้าที่สเปกที่ชัดเจนขึ้น คือเป็นคนกลางที่ไม่กลัวการเปลืองตัว กล้าทำเพื่อประเทศ เข้าใจและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ สำคัญสุดคือรู้เรื่องการต่างประเทศเพื่อจะได้ขับเคลื่อนประเทศได้ดีที่สุด”

จึงมีการนำเสนอชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตขุนพลเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีคลัง และรองนายกรัฐมนตรีคุมด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผลิตภัณฑ์โอทอปไทยไปโดดเด่นทั่วโลก รวมถึงเป็นคนคุมยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้พรรคไทยรักไทย กวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาแล้ว

ที่สำคัญ ดร.สมคิด เคยถูกจับตาว่าจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกวิกฤตการเมืองในครั้งนั้น แต่แล้วก็เกิดกระแสโจมตี ดร.สมคิดมาตลอดว่า พยายามสร้างก๊วนขึ้นมาต่อรองอำนาจมุ้งต่างๆ จนกลายเป็นคนที่ถูกโจมตีว่าเป็นคนทะเยอทะยาน อยากเป็นใหญ่

“คุณทักษิณก็เริ่มไม่ไว้วางใจอาจารย์สมคิด เพราะความโดดเด่นหรือความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับของพรรคอื่นๆ นักวิชาการ นักธุรกิจรายใหญ่ รายเล็ก กลายเป็นความหวาดระแวงให้กับคุณทักษิณที่สุด ดร.สมคิด รวมไปถึงนายหญิง ต้องถอยห่างจากกัน”

อีกทั้งการที่ ดร.สมคิด โดนพิษการเมืองต้องถูกตัดสินทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกสั่งยุบพรรคในปี 2550 จากนั้นมีการดึงแกนนำหลายคนที่ถูกตัดสิทธิ์ด้วยกันไปก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ ดร.สมคิดทำหน้าที่ที่ปรึกษาพรรค จึงอาจจะเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้สายสัมพันธ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ ดร.สมคิด ขาดสะบั้นลงได้
ในระหว่างที่ ดร.สมคิดถูกพิษการเมืองนั้น ก็ได้ทำงานด้านวิชาการ ในฐานะศาสตราพิชาน ด้วยการให้ความรู้กับสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการก่อตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้เป็นแหล่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ ที่พรั่งพร้อมด้วยข้อมูลและการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของประเทศ อีกทั้งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง จนเป็นที่ยอมรับทั้งภาพพจน์ ความรู้ ความสามารถทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งความเชื่อมั่นในสายตาของต่างชาติ

ดังนั้น แม้ว่า ดร.สมคิด จะอยู่ในประเภทที่เพียบพร้อม แต่ก็มีข้อเสียในสายตานายสุเทพ และแกนนำ ตรงที่เคยเป็นปีกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“การที่ ดร.สมคิด เคยเป็นปีกของระบอบทักษิณ ทำให้ไม่ไว้วางใจ แม้ว่าบุคคลในระดับสูงจะไว้ใจและเชียร์นายสมคิด แต่ กปปส.ก็ยังไม่มั่นใจ ขณะที่ฝ่ายทักษิณแล้ว เขาไม่เอาอาจารย์สมคิดมาเป็นคนกลางแน่ เพราะความขัดแย้งเก่า และด้วยนิสัยทักษิณแล้ว เขาไม่ยอมให้คนที่รู้สึกว่าหักหลังเขามาเป็นใหญ่แน่นอน”

แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้สำหรับกรณีของ ดร.สมคิด เพราะวันนี้ ดร.สมคิด มีแรงหนุนจากกลุ่มนักวิชาการหลายสถาบันที่เข้าไปทำโรดแมป (Road map) ปฏิรูปประเทศให้กับนายสุเทพ และยังมีกลุ่มคนในพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงคนชั้นสูงก็ออกแรงหนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือก ดร.สมคิดเป็นนายกฯ คนกลางผลักดันการปฏิรูปประเทศและจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อได้รัฐบาลใหม่ต่อไป

“ดร.สมคิดดูจะมีภาษีมาก เพราะแรงหนุนจากหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ กลุ่มทุน คนชั้นสูง และพรรคการเมือง น่าจะได้ข้อสรุปกันเร็วๆ นี้ เพราะคุณทักษิณ ก็รู้ว่าถ้าช้าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลรักษาการที่มีอายุแค่ 180 วันนับตั้งแต่ยุบสภา”

ขณะเดียวกันถ้า ดร.สมคิด พลาดไปก็มีการเสนอคนสุดท้ายเข้ามา และเป็นคนที่ถูกจับตาในขณะนี้ว่าจะเป็นคู่แข่ง ดร.สมคิด ก็คือ

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เคยเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และมีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างดี เคยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ผลงานที่โดดเด่นของ ดร.สุรเกียรติ์ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาทสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง ปตท.กับผู้ผลิตก๊าซในพม่า ซึ่งมีทั้งรัฐบาลพม่าและบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ 2 บริษัท ทำให้ไทยไม่ถูกฟ้องในอนุญาโตตุลาการ และ ปตท.ได้รับการลดราคาก๊าซ

แต่ในปี พ.ศ. 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เช่นเดียวกับ ดร.สมคิด เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรคในปี 2550

อย่างไรก็ดี หลังถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดร.สุรเกียรติ์ ได้รับหน้าที่ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และประธานกรรมการบริหารการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ที่ปรึกษาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ

ส่วนชื่อของ ดร.สุรเกียรติ์ จะเป็นที่ยอมรับของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่นั้น แหล่งข่าวอธิบายว่าจะมีเพียงเรื่องเดียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจยังติดใจอยู่บ้าง ก็คือกรณีที่ ดร.สุรเกียรติ์ ไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) กรณีเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านให้รัฐบาลพม่าว่าเคยท้วงติง หากปล่อยกู้แล้วรัฐบาลทหารพม่าจะนำเงินไปซื้อดาวเทียมไอพีสตาร์ของบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ที่เป็นของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ และเสนอให้รัฐบาลพม่าไปกู้ประเทศจีนแทน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับสั่งให้เพิ่มวงเงินกู้ไว้ในหมวดเงินกู้ในกิจการโทรคมนาคมแทน

“คุณทักษิณ เขาต้องรู้สึกว่า ดร.สุรเกียรติ์ หักหลัง และอาจจะเป็นปมในใจได้เช่นเดียวกับ ดร.สมคิด ทั้งที่ 2 คนนี้เป็นคนเก่ง โปรไฟล์ดี แต่ก็มีเรื่องในอดีตที่คาใจกันอยู่”

สำหรับ ดร.สุรเกียรติ์ ในสายตาของนายสุเทพ และแกนนำ กปปส. รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะติดเพียงเรื่องเดียวคือเป็นคนของระบอบทักษิณมาก่อน แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ชื่อ ดร.สุรเกียรติ์ สอบผ่านในสายตาของนายสุเทพและแกนนำได้ก็คือ ภาพของ ดร.สุรเกียรติ์ ชัดเจนว่าเป็นคนรักและเทิดทูนสถาบัน ซึ่งต่างจากคนระบอบทักษิณที่ถูกพาดพิงว่าเป็นพวกล้มเจ้า

“ดร.สุรเกียรติ์ เป็นหลานเขยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภรรยาของท่านเป็นพระภาคิไนย (ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว) ในสมเด็จฯ”

ดังนั้น นายสุเทพ แกนนำ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ จะตีตราว่า ดร.สุรเกียรติ์ จะเป็นคนกลางได้หรือไม่? หรือยังเป็นคนของระบอบทักษิณ ก็ขึ้นอยู่กับแว่นขยายหรือมุมมองที่คนเหล่านี้จะคิดและตัดสินใจเท่านั้น

ที่สำคัญสุดไม่ว่าใคร หรือกลุ่มใดจะเสนอบุคคลใดที่แม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วน หรือเหนือกว่าที่ตั้งสเปกไว้มาทำหน้าที่รัฐบาลคนกลาง หรือ เป็นคนกลาง ในการเจรจาคู่ขัดแย้ง ทั้งฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรักษาการรัฐบาลเป็นตัวแทน และอีกฝ่ายที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวแทน

หากทั้ง 2 ขั้วยึดหลักการของตัวเอง โดยนายสุเทพก็ย้ำตลอดเวลาว่าจะไม่มีการเจรจากับใครๆ ทั้งสิ้น และจะยอมยุติการชุมนุมต่อเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ และปล่อยให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปเข้าทำหน้าที่เท่านั้น

ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ยืนกระต่ายขาเดียวจะรักษาระบอบประชาธิปไตยตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และจะลาออกไม่ได้เด็ดขาด

ดังนั้น สภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็จะยังดำรงอยู่ต่อไป และเมื่อใดที่ประชาชนต้องเผชิญวิบากกรรมในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง เมื่อนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่ามวลมหาประชาชนจะออกมาขับไล่มหาศาลเพียงใด….ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงอึดและอึด!!

กำลังโหลดความคิดเห็น