xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ลุงตู่” ล้างกระทรวงครู ปฏิรูปการศึกษาหรือบี้แม่พิมพ์สีแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถือเป็น “ดาบ 2” สำหรับการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ภายใต้การบริหารงานของ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ดาบแรกคือการรื้อโครงสร้างการบริหารงานของ “สถาบันการศึกษาอาชีวะเอกชน” ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การดูแลของ “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.)” ให้มาอยู่ในสังกัดของ “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา(สอศ.)”

ดาบที่สองเพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ด้วยการใช้ “มาตรา 44” อีกเช่นเคยในการปรับ “โครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งดาบนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นการยกเครื่องการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงศึกษาธิการแบบพลิกฟ้าคว่ำ แผ่นดินกันเลยทีเดียว

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อะไรคือเบื้องหลังของคำสั่งดังกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่ตามมาจากคำสั่งเรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.ในภูมิภาคและเรื่องการบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาค” ก็คือ การยุบ “คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)” เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ และโอนอำนาจมาให้ “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)” ซึ่งมี “ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นประธาน และ “คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(อกศจ.)” ซึ่ง “ศึกษาธิการจังหวัด” เป็นประธาน โดย กศจ.และ อกศจ.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่

รวมทั้งคำสั่งให้มี “สำนักงานศึกษาธิการภาค” จำนวน 18 ภาค เพื่อทำหน้าที่แทน อ.กค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ประถมฯ และมัธยมฯ และให้มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัดด้วย

แปลไทยเป็นไทยก็คือ มีการรื้อฟื้นระบบศึกษาธิการจังหวัดให้กลับคืนมาใหม่และดึง “กระทรวงมหาดไทย” ผ่านผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีสิทธิมีเสียงในการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค” โดยมี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)” เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่วางแผนการบริหารงานบุคคลและจัดสรรงบประมาณในระดับภูมิภาค แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ

นี่คือ “การรัฐประหารเงียบ” หรือ “การปฏิวัติเงียบ” ครั้งสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ดังที่ “ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้คำจำกัดความเอาไว้

22 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. อธิบายถึงคำสั่งดังกล่าวว่า เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างให้เกิดการบูรณาการ เพราะที่ผ่านมาเคยชี้แจงแล้วว่าอำนาจค่อนข้างกระจัดกระจาย จนไม่มีอำนาจในการปฏิรูป การออกคำสั่งเพื่อปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป และในช่วงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะออกกฎหมายใน มาตรา 44 ไม่ใช่ไปออกเพื่อจะให้การศึกษามันดีขึ้น แต่มอบหมายให้รัฐมนตรี มีเอกภาพในการทำงาน แล้วจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยปลัดกระทรวง และ 5 แท่งงาน ซึ่งจะอยู่ในนี้ทั้งหมด ก็จะมีการเสนอแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งในส่วนของประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา ซึ่งเดิมมีการแยกแท่งงานทั้งหมด พอนโยบายรัฐบาลออกไป ก็ไม่สอดคล้องกัน วันนี้จึงต้องมาขับเคลื่อนด้วยการปฏิรูป ต่อไปเมื่อเรียบร้อยแล้ว ทุกคนมีความพึงพอใจยอมรับในกติกา ก็จะได้เดินไปในทางเดียวกัน

“จากกระทรวงศึกษา ลงไปถึงส่วนท้องถิ่น ทั้งเรื่องของโรงเรียน การแต่งตั้งอย่างผู้อำนวยการโรงเรียน รัฐมนตรีก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย มันไม่ได้ ต้องลงไปดูว่า ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอำนาจจะลงไปข้างล่างทั้งหมด ก็จะเหมือนเดิมอย่างที่เป็นมา จึงมาลองปรับใหม่ว่า จะดีขึ้นหรือไม่ เพราะที่ตรวจสอบ ครู 4-5 แสนคน พอใจกับคำสั่งดังกล่าว จะมีเพียงที่มีปัญหาอยู่บ้าง 2 พันกว่าคน ที่เป็นผู้บริหาร และยังติดอยู่กับกติกาเดิม ซึ่งพวกนี้น่าเป็นห่วง”พล.อ.ประยุทธ์แจกแจงรายละเอียด

ขณะที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายเอาไว้ชัดเจนถึงเหตุผลหลักของการรื้อกระทรวงศึกษาธิการว่า 1.ต้องการให้เกิดการบูรณาการในระดับภูมิภาค เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายจะรับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงไปปฏิบัติ ซึ่งพบปัญหาการทำงานเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น จากนี้ไปจะขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคกำกับดูแล ภาพรวม โดยคณะกรรมการระดับภูมิภาคจะมี กศจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ดูแล 2. ลดช่องว่างการบังคับบัญชา เพราะที่ผ่านมาสายการบังคับชากว้างเกินไป คือเลขาธิการ กพฐ. 1 คนจะต้องดูแลเขตพื้นที่ 225 เขต จากนี้ช่องว่างจะกระชับมากขึ้นตามลำดับ 3. ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา โดยนับจากนี้ไปทุกองค์กรหลักของ ศธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดจะต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษา และสุดท้าย มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ที่ผ่านมา ศธ. พบปัญหาการบริหารบุคลากร เช่น การเกลี่ยครู การบรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้อำนวยการ และการดำเนินการทางวินัย ค่อนข้างล่าช้า

คำถามก็คือ เหตุผลเป็นไปอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ดาว์พงษ์อธิบายจริงๆ หรือไม่

ทั้งนี้ เหตุผล “เบื้องหน้า” ที่สำคัญและไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา อ.ก.ค.ศ.แต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมและมีการเรียกรับผลประโยชน์ ดังที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ยอมรับและกล่าวว่า “ไม่ปฏิเสธ เพราะใน 225 เขตพื้นที่ฯ ที่ดีก็เยอะ ไม่ดีก็มี”

รวมทั้งเหตุผลในเรื่องของความเป็นเอกภาพในการสั่งการตามความต้องการของ พล.อ.ดาว์พงษ์ที่เคยปรารภมาก่อนหน้านี้ว่าต้องการให้เป็นแบบ “ซิงเกิลคอมมานด์” เพราะต้องยอมรับว่า ศธ.เป็นกระทรวงเดียวที่ ปลัด ศธ.ไม่ได้มีอำนาจบริหารเหมือนกระทรวงอื่นๆ หากแต่กระจายออกไปตาม 5 แท่งที่ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ซึ่งแต่ละแท่งต่างก็มีอำนาจเป็นอิสระต่อกัน และต่างคนต่างใหญ่ ทำให้ไร้เอกภาพในการบริหาร

แต่เหตุผล “เบื้องหลัง” ที่ต้องถือว่าสำคัญและเผลอๆ จะสำคัญเสียยิ่งกว่าเหตุผลเบื้องหน้าก็คือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลในกลุ่มผู้บริหารการศึกษาส่วนภูมิภาคซึ่งต้องยอมรับว่าแอบอิงกับ “กลุ่มขั้วอำนาจการเมืองเก่า” เป็นจำนวนมาก และมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้มีอำนาจปัจจุบันต้องการ “จัดจารีตใหม่”

และนี่อาจเป็นความลงตัวที่สังคมคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ส่วนเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” และคำถามว่า “เด็กไทย” จะได้ประโยชน์อะไรจากการรัฐประหารกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้หรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน



กำลังโหลดความคิดเห็น