xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์”งัดม.44 รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ปฎิรูประบบศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "ประยุทธ์" แจงออก ม. 44 ปรับโครงสร้างการศึกษา หวังปฏิรูปและให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ด้าน “ดาว์พงษ์” แจง 4 เหตุผล เผยมั่นใจ กศจ. ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีที่มีคำสั่ง คสช. อาศัยความใน มาตรา 44 ให้ทำการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการว่า เป็นการปรับโครงสร้างให้เกิดการบูรณาการ ที่ผ่านมาเคยชี้แจงแล้วว่าอำนาจค่อนข้างกระจัดกระจาย จนไม่มีอำนาจในการปฏิรูป การออกคำสั่งเพื่อปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป และในช่วงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะออกกฎหมายใน มาตรา 44 ไม่ใช่ไปออกเพื่อจะให้การศึกษามันดีขึ้น แต่มอบหมายให้รัฐมนตรี มีเอกภาพในการทำงาน แล้วจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

ประกอบด้วย ปลัดกระทรวง และ 5 แท่งงาน ซึ่งจะอยู่ในนี้ทั้งหมด ก็จะมีการเสนอแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งในส่วนของประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา ซึ่งเดิมมีการแยกแท่งงานทั้งหมด พอนโยบายรัฐบาลออกไป ก็ไม่สอดคล้องกัน วันนี้จึงต้องมาขับเคลื่อนด้วยการปฏิรูป

" วันนี้ผมบูรณาการทั้งหมดอยู่แล้วว่า ใครจะต้องไปทำตรงไหน อย่างไร ต้องคิดถึงประโยชน์สูงสุด ในส่วนของการศึกษาเอง ปัจจุบันก็ยังไม่สอดคล้องกัน จึงไม่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศได้ ประชาชนในท้องถิ่นก็ไม่เกิดกระบวนการในการปฏิรูป เกิดความขัดแย้งเช่นนี้ต่อไป แต่ไม่สามรถทำงานคนเดียวได้ จึงต้องร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งเรื่องของโรงเรียน การแต่งตั้งอย่างผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องลงไปดูว่า ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เพราะที่ตรวจสอบ ครู 4-5 แสนคน พอใจกับคำสั่งดังกล่าว จะมีเพียงที่มีปัญหาอยู่บ้าง 2 พันกว่าคน ที่เป็นผู้บริหาร และยังติดอยู่กับกติกาเดิม ซึ่งพวกนี้น่าเป็นห่วง ถ้ายังไม่แก้ไข ปัญหาของบ้านเราคือ การบูรณาการที่เกิดไม่ได้อย่างแท้จริง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

วานนี้ (22 มี.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ คสช.ออก ม. 44 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคว่า สาเหตุที่ใช้ ม.44 ในการดำเนินการยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯและอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มี 4 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1.บูรณาการในระดับภูมิภาค เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายจะรับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ลงไปปฏิบัติ ซึ่งพบปัญหาการทำงานเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น จากนี้ไปจะขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคกำกับดูแล ภาพรวม โดยคณะกรรมการฯระดับภูมิภาคจะมี กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ดูแล
2.ลดช่องว่างการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาสายการบังคับชากว้างเกินไป คือเลขาธิการ กพฐ.1 คนจะต้องดูแลเขตพื้นที่ 225 เขต จากนี้ช่องว่างจะกระชับมากขึ้นตามลำดับ 3.ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา โดยนับจากนี้ไปทุกองค์กรหลักของ ศธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดจะต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษา และสุดท้าย มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล

“ศธ.ประสบปัญหาขาดการบูรณาการ การทำงานที่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการบริหารบุคคล ทั้งบรรจุครู การโยกย้ายข้ามเขต หรือลงโทษวินัย จะต้องต้องผ่านอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จากนี้ไปจะมองในภาพกว้างระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จะทำให้คัดเลือกครู ผู้บริหารสถานศึกษาได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้กระชับ คล่องตัวขึ้น ส่วนที่ในคำสั่งระบุเรื่องอำนาจหน้าที่ของ รมว.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ผมขอยืนยันจะใช้อำนาจตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนการตั้งกรรมการผู้แทนประชาชน ข้าราชการครู และผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นนั้น ในทางปฏิบัติจะให้ทาง กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามา” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น จะให้ สพป.เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน กศจ.ไปพลางก่อน ในส่วนของศึกษาธิการภาค 18 ภาคนั้น รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.จะลงนามตั้งผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนตามประเด็นปฏิรูปการศึกษา

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้โครงสร้างนี้ถึงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคือในช่วงที่ คสช. บริหารประเทศอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนหลังจากเลือกตั้งไปแล้ว คงต้องดูผลประเมินอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งนี้เป็นการถอยหลังหรือไม่ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษามุ่งการกระจายอำนาจไป พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้เกิดเสียงเรียกร้องของคนในกระทรวงทั้งสิ้น ไม่ได้คิดเองคนเดียว ผมยืนยันว่าครูและบุคลากรทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่บางเรื่องอาจจะต้องรอไปบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น