xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ยัน รธน.ไม่มีสองขยัก ชี้กังวลข้อเสนอ ครม.มากไป แย้มมีบทลงโทษบีบปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ปธ.กรธ.เผยหารือรองนายกฯ ปมข้อเสนอที่ 16 ครม.ปมช่วงเปลี่ยนผ่านแล้วไม่มีอะไรมาก ทำอยู่แล้วไม่มีปัญหา ไม่มีสองขยัก ไม่กลไกพิเศษ เปลี่ยนผ่านไม่ขัดแย้งหรือไม่ขึ้นกับเฉพาะกาล มีการควบคุมในตัวช่วงปฏิรูป แย้มเขียนบนลงโทษบีบให้ รบ.ต้องปฏิรูป รับพยายามแก้ รธน.ให้แยะมาก ยึดความเห็น ปชช.เป็นหลัก เด็ก พท.โวยค้าน รธน.สองขยัก-ห้ามแปรญัตติงบ

วันนี้ (25 ก.พ.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในข้อ 16 ของข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตนได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แล้วเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ไม่มีอะไรมาก ไปกว่าคำแนะนำที่ว่าหากอะไรที่คนเสนอมาจะไปทำให้กฎเกณฑ์ที่เราวางไว้เสียหาย หรือไม่ควรแก้ตรงนั้นและคิดว่าควรจะออมชอมให้เขานั้นก็ให้ไปทำในบทเฉพาะกาลได้ และระหว่างเปลี่ยนถ่ายขอให้ทำราบรื่นขึ้นซึ่งเราก็ทำอยู่แล้วไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่าแปลว่าไม่ได้ทำเป็นสองขยักใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า คำว่าสองขยัก คือ มีบทถาวร และมีบทเฉพาะกาลซึ่งก็มีอยู่แล้ว เมื่อใช้คำว่าขยักเลยเกิดความเข้าใจผิด

“ความหมายของข้อ 16 ก็อย่างที่บอกมีเพียงเท่านั้นไม่มีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้น พอท่านไปใช้คำว่าสองขยัก ก็คือความหมายอะไรที่ใช้ชั่วคราวก็อย่าทำให้หลักใหญ่มันเสีย ก็เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งเราก็เขียนไว้แล้ว ทีนี้หากเผื่อมีใครเสนอมาแล้วทำให้เราคิดว่าควรจะทำแต่ทำให้หลักข้างในเราเสียก็อาจเขียนเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลได้ เท่านั้นเอง”

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนที่ว่าด้วยการปฏิรูปที่ต้องการให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งในบทเฉพาะกาลยังไม่ได้เขียนเรื่องการปฏิรูปเอาไว้ แล้วยังไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องการปฏิรูปที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งกลไกนั้นเราจะเริ่มคิดว่าเรื่องไหนจะบังคับให้ทำภายในกี่ปี เรื่องไหนบังคับให้ทำให้แล้วเสร็จ ตอนนี้เรากำลังคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ จะบอกว่าปฏิรูปเรื่องอะไร เพื่ออะไร เพื่อให้บรรลุอะไร ตรงนั้นจะเป็นตัวบังคับ หากถามว่าจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลใหม่จะทำ ตัวนี้จะบังคับ เช่น ให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เด็กเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ภายใน 3 ปี แล้วปีแรกนั้นให้รัฐบาลทำ ส่วนสองปีหลังรัฐบาลใหม่มาก็ต้องทำ นั่นคืนช่วงเปลี่ยนผ่านที่ว่า แล้วเราก็อาจเขียนบทกำหนดโทษเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

ถามว่าวัตถุประสงค์ของข้อ 16 คือ อยากให้มีกลไกที่กำกับช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน ดังนั้นอำนาจที่จะใช้ยืนยันหรือไม่ว่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ต้องมีการควบคุมไปในตัวเหมือนกับที่เขียนไว้เช่น การปฏิรูปตำรวจโดยเร็ว ในระหว่างที่ยังไม่มีการปฏิรูปให้แต่งตั้งโดยใช้ระบบอาวุโส นั่นคือตัวควบคุม ส่วนข้อกังวลของรัฐบาลต่อเรื่องสถานการณ์ขัดแย้งนั้น นั่นแหละถูกจัดสรรไว้แล้ว ทั้งนี้เรื่องขัดแย้งหลายเรื่องถูกเขียนไว้ในตัวแม่บทแล้ว แต่คนยังอ่านไม่เจอเท่านั้น

ถามถึงกลไกในร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ มั่นใจว่าจะนำไปสู่เปลี่ยนผ่านโดยไม่ขัดแย้งได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตอนนี้เราไล่ดูข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ หากแก้ได้เราจะแก้ไขให้ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งจะเป็นปัญหาแล้วว่าแก้ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ กรธ.ยืนยัน แต่ไม่แก้อะไรเลยก็จะลำบาก ต้องไปเริ่มคิดกันดู ทั้งนี้ยืนยันว่าข้อเสนอของ ครม.ในข้อ 16 นั้นไม่มีอะไรพิเศษ แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปโดยไม่ขัดแย้งหรือไม่ ขั้นอยู่กับว่าจะเขียนอะไรในบทเฉพาะกาล โดยขณะนี้บทเฉพาะกาลเขียนไว้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงกลไกการปฏิรูป และกลไกทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจริงๆ ทั้งสองเรื่องก็เขียนไว้ในบทถาวรแล้ว หากรัฐบาลเป็นห่วง ก็อาจไปเขียนในช่วงนี้ต้องรีบทำอย่างไร หากทำไม่เสร็จใครจะต้องทำต่อ หากไปเข้าใจข้อ 16 ผิดก็เลยกังวลกันมากไป

นายมีชัยยังกล่าวถึงถามความคืบหน้าการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญว่า เกือบจบหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐแล้ว โดยค่อยๆ ไล่ว่าใครเสนอแก้อะไร แต่เมื่อแก้แล้วก็จะไปกระทบต่อมาตราอื่น จึงเกรงว่าจะสับสน แต่ก็พยายามให้ออกมาให้ดูว่าแก้ไขให้เยอะมาก ใครอยากได้อะไรที่ไม่เสียหายก็แก้ไขให้ โดยให้เป็นไปตามความเห็นของภาคประชาชนเป็นหลัก เพราะของ ครม.มี 10 กว่าข้อ ส่วนประชาชนมี 600-700 ข้อ

ด้านนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อ 16 ว่าไม่เห็นด้วยต่อการเขียนรัฐธรรมนูญให้มีการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ช่วง เนื่องจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง จะสร้างความสับสนให้ประชาชน หากจะบังคับใช้ก็ควรเป็นแบบเดียวเพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมถึงวิธีการดังกล่าวจะขาดการยอมรับจากนานาชาติ ส่วนการไม่ให้ ส.ส. รัฐมนตรี แปรญัตติงบประมาณนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเหมือนกับทำอะไรไม่ได้เลย ส.ส.ถูกคนในพื้นที่เลือกมาแต่กลับไม่สามารถทำผลประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นได้ ผิดเจตนารมณ์ของผู้แทนปวงชน ตรรกะแบบนี้ใช้ไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น