xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยรัฐบาลแนะ กรธ. เพิ่มหมวดปฏิรูป - “สุวพันธุ์” งงพวกจ้องคว่ำย้อนแย้งอยากเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ นัด ครม.ส่งการบ้านร่างรัฐธรรมนูญ 9 ก.พ.นี้ เผยความเห็นรัฐบาลเพิ่มหมวดการปฏิรูป ไม่ควรซุกในหมวดเฉพาะกาล ชี้คนที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้อ่านโดยรวม ด้าน รมต.ประจำสำนักนายกฯ แจงเน้นวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โยงกับแผนการปฏิรูปประเทศ ให้หลักประกัน 4 ปีเกิดระบบธรรมภิบาล กังขาพวกเรียกร้องให้คว่ำร่างฯ กระสันอยากเลือกตั้งเร็วๆ ย้ำยึดกรอบเวลาตามโรดแมปเหมือนเดิม ไร้วาระซ่อนเร้น

วันนี้ (7 ก.พ.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอให้แสดงความเห็นไปที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะส่วนตัวไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องหรือสู้กับคนที่ออกมาวิจารณ์ และไม่ต้องการแสดงความเห็นในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้การแสดงความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่เมื่อสื่อออกไปจะเหมือนความเห็นของรัฐบาล จึงไม่อยากพูดอะไรมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีบางกระทรวงส่งความเห็นมาแล้ว เบื้องต้นความเห็นต่างๆ ที่ส่งเข้ามาเป็นการตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยในเนื้อหา จากนั้นทุกกระทรวงจะส่งความเห็น ข้อเสนอแนะมาให้ภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ แล้วจะรวบรวมความเห็นต่างๆ เพื่อเสนอยัง กรธ.

นายวิษณุกล่าวว่า ความเห็นของรัฐบาลที่จะส่งไปยัง กรธ. มีเบื้องต้นว่าจะเสนอให้เพิ่มหมวดการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เห็นด้วย แม้ร่างแรกจะมีมาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปอยู่แล้ว ทั้งการปฏิรูปการศึกษา ตำรวจ และอื่นๆ แต่เราต้องการให้เขียนขึ้นเป็นหนึ่งหมวด และไม่ควรซุกไว้ในบทเฉพาะกาลเพราะจะเหมือนทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งที่การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นในระยะยาว เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูด และตนคิดมานานแล้วว่าคนวิจารณ์รัฐธรรมนูญในขณะนี้วิจารณ์โดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาโดยรวม ทั้งคำถามจากสื่อ และคนอื่นๆ ที่มาวิจารณ์ ดังนั้น กรธ.จึงต้องชี้แจงรายละเอียดในมากขึ้น

“วันนี้ใครจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป หน้าที่ของ กรธ.นั้นควรจะเก็บรวบรวมเสียงที่มีการสะท้อนทั้งหมด และไม่ควรตอบคำถามรายวัน แต่ควรตอบเป็นยกๆ เพราะหากตอบเป็นรายวัน คำถามอื่นก็จะตามมา ไม่จบไม่สิ้น และทางที่ดีควรจะทำเป็นแถลงการณ์เลยก็ได้ ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลเองยังไม่มีความคิดร่วมมือกับ กรธ. ในการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน” นายวิษณุกล่าว

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในส่วนของตนได้ทำความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว รอฟังความเห็นของหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ว่าจะมีประเด็นความเห็นเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ในส่วนความเห็นของตนให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่เชื่อมโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อมีหลักประกันว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อไป นอกจากนั้นยังเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะต้นอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า ประชาชนควรได้รับหลักประกันว่าจะเกิดระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ สามารถทำให้ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านมีความมั่นคงในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้น เท่าที่ศึกษาก็พบว่าถูกกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่แล้ว อะไรที่ควรเพิ่มเติมหรือปรับแก้ก็จะทำความเห็นเสนอไป

นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ในเรื่องการเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ เท่าที่เห็นก็มีบางกลุ่มกำลังรณรงค์อยู่ ทำอินโฟกราฟิกแพร่กระจายในโลกโซเชียลฯ หรือแสดงความคิดเห็นต่างกรรมต่างวาระทางช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ตนมีข้อสังเกตว่า ในกลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่ละกลุ่มอาจมีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มต้องการให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ บางกลุ่มอาจเพียงต้องการกดดันให้ กรธ. ไปปรับแก้ไขร่างให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของพวกตน บางกลุ่มต้องการแค่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการต่อต้านหรือต้องการทดสอบกระแสทางการเมืองบางอย่าง

“แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยเข้าใจ คือ พวกที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งที่รู้ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งก็อาจจะเนิ่นนานออกไป คำถามคือคนเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่ คิดอะไรในใจ คิดอะไรที่ซับซ้อน ผมก็ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ คงต้องรบกวนสังคมช่วยกันหาคำตอบ” นายสุวพันธุ์กล่าว

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลยังยึดกรอบเวลาในการทำงานเหมือนเดิม การจัดทำแผนปฏิบัติการของส่วนราชการ การติดตามเร่งรัดการทำงานของกระทรวงต่างๆ ยึดตามกรอบเวลาเดิม ที่วิจารณ์เรื่องกรอบเวลาที่จะยาวออกไปอีกก็ต้องเข้าใจว่า เป็นผลจาก กรธ.มองเรื่องการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 13 เดือน หรือ 8+5 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต่างจากกรอบเวลาเดิมของรัฐบาลที่กำหนดไว้ 10 เดือน หรือ 6+4 เดือน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะนานออกไปประมาณ 3 เดือน คำถามก็คือ กรธ.มีเหตุผลเพียงพอที่สังคมจะรับได้หรือไม่กับระยะเวลาที่ว่านั้นกับการต้องจัดทำร่างกฎหมายรวม 10 ฉบับ และเตรียมการเลือกตั้งด้วย

“ถ้าเราติดตามข่าวทางสื่อมวลชนก็ดูเหมือนว่า กรธ.และ สนช.ได้มีการหารือกันแล้ว จะเร่งจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วโดยคำนึงถึงกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาเรื่องพวกนี้โดยไม่มีอคติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็จะพบว่าทุกฝ่ายมีเจตนาที่ดีต่อการทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย และทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองที่กำลังออกแบบกันอยู่เป็นหลักประกันที่ดีต่อประเทศและประชาชนได้" นายสุวพันธุ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น