xs
xsm
sm
md
lg

แม้วสับรธน.-บิ๊กตู่ ห่วยแตก/บ้าอำนาจ ส่อเลื่อนเลือกตั้ง3ด.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แม้ว" สับ "ร่างมีชัย" ห่วยแตก พาประเทศถอยหลังลงคลอง เทียบเกาหลีเหนือ-เมียนมา จวก "บิ๊กตู่" บ้าอำนาจ-ไร้วุฒิภาวะ ด้าน "วิษณุ" นัด ครม. ส่งการบ้านร่าง รธน. 9 ก.พ.นี้ "สุวพันธุ์" คาดโรดแมปเลือกตั้งเลื่อนไป 3 เดือน ตาม กรธ.ที่ใช้สูตร 8+5 ส่วนโพลชี้ประชาชนไม่เชื่อนักการเมืองที่วิจารณ์ร่าง รธน. ระบุอยู่บนผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และแกนนำภาค กทม. นัดอดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กินข้าวสังสรรค์ เนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ที่บ้านพักย่านลาดปลาเค้า โดยมีอดีต ส.ส.มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง สำหรับไฮไลต์สำคัญของงานคือการวีดิโอคอลจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สายตรงมายังโทรศัพท์คุณหญิงสุดารัตน์ นายทักษิณกล่าวกับอดีต ส.ส.กทม.ว่า “ทีม กทม.มีหัวหน้าทีมผู้หญิงเก่ง มีความสามารถ เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วต้องบอกว่าห่วยแตก ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป เขียนแบบนี้ประเทศชาติถอยหลังลงคลอง เหมือนเมียนมา เกาหลีเหนือ ผมจากบ้านไปเกือบ 10 ปี แต่บ้านเมืองเรากลับถอยหลังไปเกือบ 20 ปี ตอนนี้ผู้นำก็บ้าอำนาจจนขาดสติ ขาดวุฒิภาวะ แสดงกิริยาไม่สมควร ขอให้พวกเราเตรียมตัวไว้เลย จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงมากที่จะกลับมาบริหารประเทศ”

***วิษณุนัด ครม. ส่งการบ้านร่าง รธน. 9 ก.พ.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอให้แสดงความเห็นไปที่ กรธ. เพราะส่วนตัวไม่ได้มีหน้าที่ปกป้อง หรือสู้กับคนที่ออกมาวิจารณ์ และไม่ต้องการแสดงความเห็นในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา แม้การแสดงความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่เมื่อสื่อออกไป จะเหมือนความเห็นของรัฐบาล จึงไม่อยากพูดอะไรมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมครม. มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีบางกระทรวงส่งความเห็นมาแล้ว เบื้องต้นความเห็นต่างๆ ที่ส่งเข้ามาเป็นการตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยในเนื้อหา จากนั้นทุกกระทรวงจะส่งความเห็น ข้อเสนอแนะมาให้ภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ แล้วจะรวบรวมความเห็นต่างๆ เพื่อเสนอยัง กรธ.

ทั้งนี้ ความเห็นของรัฐบาลที่จะส่งไปยัง กรธ.มีเบื้องต้นว่า จะเสนอให้เพิ่มหมวดการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ควรซุกไว้ในบทเฉพาะกาล เพราะจะเหมือนทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งที่การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นในระยะยาว

**ข้องใจพวกต้าน รธน.มีวาระซ่อนเร้น

ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในความเห็นของตน ให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ที่เชื่อมโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีหลักประกันว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อไป

นอกจากนั้นยังเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะต้นอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า ประชาชนควรได้รับหลักประกันว่า จะเกิดระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล และสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ สามารถทำให้ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีความมั่นคงในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้น

ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ เท่าที่เห็นก็มีบางกลุ่มกำลังรณรงค์อยู่ ทำอินโฟกราฟฟิก แพร่กระจายในโลกโซเชียล หรือแสดงความคิดเห็นต่างกรรม ต่างวาระ ทางช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ตนมีข้อสังเกตว่า ในกลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่ละกลุ่มอาจมีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มต้องการให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ บางกลุ่มอาจเพียงต้องการกดดันให้กรธ.ไปปรับแก้ไขร่างให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของพวกตน บางกลุ่มต้องการแค่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ของการต่อต้านหรือต้องการทดสอบกระแสทางการเมืองบางอย่าง

"แต่ที่น่าสนใจ และไม่ค่อยเข้าใจคือ พวกที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งที่รู้ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งก็อาจจะเนิ่นนานออกไป คำถามคือ คนเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่ คิดอะไรในใจ คิดอะไรที่ซับซ้อน ผมก็ตอบไม่ได้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ คงต้องรบกวนสังคมช่วยกันหาคำตอบ" นายสุวพันธุ์ กล่าว

** เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งไป 3 เดือน

ทั้งนี้ รัฐบาลยังยึดกรอบเวลาในการทำงานเหมือนเดิม การจัดทำแผนปฏิบัติการของส่วนราชการ การติดตามเร่งรัดการทำงานของกระทรวงต่างๆ ยึดตามกรอบเวลาเดิม ที่วิจารณ์เรื่องกรอบเวลาที่จะยาวออกไปอีกก็ต้องเข้าใจว่า เป็นผลจาก กรธ. มองเรื่องการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 13 เดือน หรือ 8+5 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต่างจากกรอบเวลาเดิมของรัฐบาลที่กำหนดไว้ 10 เดือน หรือ 6+4 เดือน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะนานออกไปประมาณ 3 เดือน คำถามก็คือ กรธ. มีเหตุผลเพียงพอที่สังคมจะรับได้หรือไม่ กับระยะเวลาที่ว่านั้น กับการต้องจัดทำร่างกฎหมายรวม 10 ฉบับ และเตรียมการเลือกตั้งด้วย ถ้าเราติดตามข่าวทางสื่อมวลชนก็ดูเหมือนว่า กรธ. และ สนช. ได้มีการหารือกันแล้ว จะเร่งจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว โดยคำนึงถึงกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาเรื่องพวกนี้โดยไม่มีอคติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็จะพบว่า ทุกฝ่ายมีเจตนาที่ดีต่อการทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย และทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองที่กำลังออกแบบกันอยู่เป็นหลักประกันที่ดีต่อประเทศและประชาชนได้

**ร่าง รธน.ให้อำนาจ ปชช.มากขึ้น

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ชี้แจงกรณี แกนนำนปช. ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลใช้ทุกกลไก กระทั่งนักศึกษารักษาดินแดน ที่ต้องไปยืนโฆษณาหน้าหน่วยในวันลงคะแนน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก ด้วยทบ. มีนโยบายสนับสนุน ให้ นศท.ซึ่งอยู่ในวัยการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมในลักษณะจิตอาสา ในกิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้าแล้ว ทั้งงานช่วยสังคม และงานสร้างความเข้าใจ ให้กับกลุ่มเพื่อนเยาวชนด้วยกันเอง หรือในกลุ่มครอบครัว และสังคมรอบข้าง พอเป็นเรื่องของ รธน.ก็ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรรู้ และทำเข้าใจ

ส่วนการแสดงความเห็นภายใต้กรอบ ก็ไม่ได้มีสัญญาณที่จะไปปิดกั้นอะไร นอกจากการทำความเข้าใจโต้ความเห็นที่บิดเบือน หรือมีเจตนาแอบแฝง มั่นใจยังไม่มีเรื่องไหนที่จะดูไปขัดกับหลักการพื้นฐานของการทำประชามติ และประชาชนยังคงได้รับโอกาสร่วมและตัดสินใจได้โดยอิสระภายใต้กรอบและวิธีการที่เหมาะสม

สำหรับข้อสังเกตจากสังคม ในสมมุติฐานและความกังวลของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่มีต่อร่าง รธน. เหมือนจะเน้นเฉพาะการเข้าสู่อำนาจ และการรักษา หรืออยู่ในอำนาจเป็นหลัก จึงเป็นไปได้ที่พยายามไม่เห็นด้วย ในแนวคิดการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งๆ ที่องค์กรอิสระนั้นๆ เป็นกลไกที่มีประชาชนมีส่วนร่วมได้โดยตรง และเสมือนเป็นคนร่วมขับเคลื่อนด้วย เช่น บางกรณีประชาชนอาจสงสัยก็สามารถขอยื่นเรื่องให้ตรวจสอบในเรื่องทุจริต หรือเรื่องที่ผิดปกติเองได้ด้วย

ส่วนที่กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ เครือข่ายอำนาจของ คสช. เชื่อว่า ยังเป็นเพียงสมมุติฐานเชิงหวาดระแวง แบบขาดข้อพิสูจน์ ที่สามารถจับต้องได้ และที่กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย นั้นก็คงไม่ใช่ เพราะอีกส่วนของสังคมเริ่มมองเห็นตรงกันว่า ปัญหาเกิดจากมีบางกลุ่มพยายามดึงเอาคำว่าประชาธิปไตยไปอ้างใช้ในมุมตนเอง และพวกพ้องจะได้ประโยชน์เท่านั้น โดยเฉพาะการอ้างไว้เพื่อเป็นเกราะกำบังในการจะทำอะไรในเรื่องที่บางสถานการณ์อาจไม่เหมาะกับประเทศ หรืออ้างใช้กรณีคิดเห็นไม่ตรงกับกลุ่มคนที่เหลืออื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดว่าอาจขัดขวางผลประโยชน์

และที่พูดถึงกรณีรัฐบาลกำลังร่างกติกาที่เห็นชัดว่า อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ในมือประชาชนนั้น ก็ค่อนข้างบิดเบือนอีกเช่นกัน เพราะเท่าที่ได้รับข้อมูลมาในร่าง รธน. นี้ ได้เขียนเพิ่มเพื่อให้อำนาจประชาชนไว้มากกว่าเดิม ยืนยัน ไม่ใช่แค่อำนาจสูงสุดจะอยู่กับประชาชนที่ได้รับเลือกเท่านั้น ยังจะอยู่กับประชาชนในส่วนที่เหลืออีกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล และการรักษาผลประโยชน์ประเทศ

***โพลชี้ประชาชนไม่เชื่อนักการเมือง

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ มีหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง ที่ถูกจับตามองว่า เป็นการออกมาเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างทางการเมือง ในขณะที่ประชาชนเอง คงต้องรู้เท่าทัน เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือ และเกิดความขัดแย้งในสังคม เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน1,348 คน กรณีประชาชนกับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 ก.พ. 59 สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนคิดอย่างไร ที่นักการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การร่างรัฐธรรมนูญ อันดับ 1 เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยตรง เป็นเรื่องผลประโยชน์ การได้เปรียบเสียเปรียบ 75.05% อันดับ 2 เป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม 62.58% อันดับ 3 ขอให้นักการเมืองแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และบริสุทธิ์ใจ 58.35%

2. ประชาชนเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมือง ที่ออกมาพูดเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญ มากน้อยเพียงใด อันดับ 1ไม่ค่อยเชื่อ43.48% เพราะ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว พูดจากมุมมองของตนเอง เป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองฯลฯ อันดับ 2 ไม่เชื่อ25.96% เพราะ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ กลัวการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากกว่า ฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างเชื่อ 22.40% เพราะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ น่าเชื่อถือ ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ฯลฯ

3. ประชาชนเชื่อหรือเห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่ชื่นชอบ มากน้อยเพียงใด อันดับ 1ไม่ค่อยเชื่อ 36.87% เพราะ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ฯลฯ อันดับ 2ค่อนข้างเชื่อ 30.50% เพราะ เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ฯลฯ อันดับ 3ไม่เชื่อ 22.00% เพราะ เป็นเกมการเมือง เป็นบทบาทของนักการเมืองอย่างหนึ่งที่จะต้องออกมาสร้างกระแส ฯลฯ

4. ประชาชนเชื่อบุคคลหรือหน่วยงานใดที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ อันดับ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี77.06% อันดับ 2 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 74.59% อันดับ 3นักวิชาการ /อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ /ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 66.47% อันดับ 4 ผู้อาวุโสทางการเมือง /หัวหน้าพรรคการเมือง /ตัวแทนพรรคการเมือง 64.12%
กำลังโหลดความคิดเห็น