xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ กรธ.เผยให้งานสอบสวนอยู่ สตช.เหมือนเดิม เน้นปราศจากแทรกแซง - ปรองดองยังไม่ได้ข้อสรุป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต (ภาพจากแฟ้ม)
กรธ. เผยผลคณะอนุฯ ปฏิรูปการศึกษาและบังคับใช้กฎหมาย เล็งกำหนดหลักการสำคัญปฏิรูปการศึกษา ส่วนข้อเสนอแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เน้นปราศจากแทรกแซงและครอบงำ เปิดทางให้อัยการสอบสวนด้วย ส่วนปฏิรูปราชการ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ส่วนเรื่องปรองดองยังไม่ชัด

วันนี้ (6 ม.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการพิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย โดยแนวทางปฏิรูปการศึกษาจะกำหนดเพียงหลักการสำคัญไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี ภูมิใจในชาติ และสามารถศึกษาได้ตามความถนัดของตน กำหนดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรการบังคับและกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ที่ยังเป็นปัญหา ไม่เป็นไปตามลำดับและไม่ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งต้องรับผิดชอบภารกิจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง อาทิ งานทะเบียน กรธ. กำหนดหลักการให้การบริหารงานบุคคลของตำรวจเป็นไปตามความรู้ ความสามารถหรือตามหลักอาวุโส และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนให้เป็นไปด้วยความชอบธรรม ตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพ โดยอาจกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนด้วย

“ส่วนข้อเสนอแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ เห็นเพียงหลักการว่า การสอบสวนควรปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ไม่ควรมีระบบการครอบงำจากสายการบังคับบัญชา ให้พนักงานสอบสวนมีความอิสระและเปิดโอกาสให้อัยการมีอำนาจสอบสวนด้วย เพราะเห็นว่าถ้าแยกกลไกการสอบสวนออกในเชิงของโครงสร้างตำรวจ ก็อาจจะเป็นเรื่องหน่วยสอบสวนโดยเฉพาะ อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจสอบสวน แต่กลไกตำรวจจะมีเรื่องของยศเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าลดเรื่องการบังคับบัญชาในภารกิจนี้ได้ก็เท่ากับลดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา ทั้งนี้งานสอบสวนก็ยังคงอยู่ในหน่วยงาน สตช. เหมือนเดิม แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องคิดวางกลไกอย่างไรให้เป็นอิสระ ซึ่งต้องไปวางไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” โฆษก กรธ. กล่าว

นายอุดม กล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทางการปฏิรูปข้าราชการ เบื้องต้นมีข้อเสนอให้กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการแต่ละหน่วยเหมือนกัน โดยมอบอำนาจให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับผิดชอบ วางมาตรฐานจริยธรรมข้าราชการ อีกทั้งที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ ในคดีทุจริตของข้าราชการ นอกจากจะมีความผิดทางวินัยและคดีอาญาแล้ว จะต้องสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและยึดทรัพย์ได้ ส่วนการประชุมนอกสถานที่ ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สัปดาห์หน้า ทางอนุกรรมการแต่ละคณะก็จะนำเสนอบางประเด็นที่ยังค้างอยู่เพื่อหาข้อสรุปว่า จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น ประเด็นของอนุกรรมการฝ่ายนิติบัญญัติก็หารือถึง การกำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกสถานที่จะมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นวันเดียวกันพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อถามว่า กรธ. มีข้อสรุปจะกำหนดเนื้อหาการปฏิรูปและการปรองดองให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่ กรธ. ก็มีความเห็นว่า นอกจากจะต้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและองค์กรอิสระ รวมกว่า 10 ฉบับ แล้ว กรธ. อาจจะต้องรับผิดชอบร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิรูปด้านสำคัญอย่างการศึกษาและตำรวจด้วย ส่วนประเด็นการปรองดองก็ยังไม่มีความชัดเจน ที่สุดแล้วอาจจะต้องเป็นมาตรการของฝ่ายบริหาร ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประชุม กรธ. ก็ได้มีการหารือกันบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจน ส่วนตัวมองว่า การเดินหน้าปฏิรูปนั้นมีความสำคัญ และมีหลายมิติ ทั้งความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงอาจจะต้องมีการกำหนดให้การปฏิรูปแต่ละด้านอยู่ในภาพรวมเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อกำหนดให้การปฏิรูปแต่ละด้านมีความต่อเนื่องและควรมีผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นเรื่องใหญ่แต่จะเป็นใครนั้นยังไม่ทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น