xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยโยนรัฐแก้ขัดแย้ง แนะใช้ม.44ตั้งกก.ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกว่า เรื่องนี้ต้องโทษพรรคการเมือง จะมาโทษรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองจะเป็นผู้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี ก่อนการเลือกตั้ง หากพรรคไม่เลือกผู้เป็นส.ส. ก็ต้องโทษพรรคการเมือง
ส่วนกรณีที่ตนถูกวิจารณ์มาก จะทำให้เสียความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของตนมีเท่าไร ก็ยังมีอยู่เท่านั้น เพราะความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่ที่คำพูด แต่อยู่ที่การกระทำ ส่วนความคืบหน้าเรื่องความปรองดอง ทางอนุกรรมการได้รายงานเข้ามา ซึ่งเราก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การปรองดองในวันข้างหน้า กรธ.ก็ได้เขียนไว้แล้วในหลายส่วน เช่น การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ก็จะช่วยเรื่องการปรองดอง โดยทำให้ไม่มีฝ่ายใดชนะจนอีกฝ่ายอยู่ไม่ได้ หรือ การให้อำนาจผู้นำฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายเสนอแนะรัฐบาล เพื่อหาทางออกให้ประเทศ หากเกิดวิกฤติการเมืองขึ้นแต่สำหรับการปรองดองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ตนยังคิดไม่ออก ไม่รู้จะนำบทสวดมนต์บทไหนไปใส่ไว้ แล้วถึงจะเลิกขัดแย้ง อีกทั้งการปรองดอง ยังต้องอาศัยการกระทำอีกหลายอย่าง และยังต้องใช้เวลา กรธ. คงอาจจะต้องเสนอให้รัฐบาลไปทำ
เมื่อถามว่า การปรองดองจำเป็นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ก็ได้ การตั้งคณะกรรมการองค์กร นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสามารถทำได้เองเลย หรืออาจจะใช้ มาตรา 44 ทำก็ได้
เมื่อถามถึง คำพิพากษาศาลแพ่ง ชั้นต้น ที่ชี้ว่า คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/2555 ให้ปลด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากราชการ ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการกระทำความผิด ตามคุณสมบัติผู้ลงสมัครส.ส.ที่เราเขียนไว้ ชัดเจนว่า ห้ามผู้ที่ทุจริต ทำผิดทางวินัย จนโดนปลด หรือไล่ออกจากราชการ กรณีของนายอภิสิทธิ์ เกิดจากคุณสมบัติเข้ารับราชการไม่ถูกต้อง ยืนยันว่ากรธ.ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็เขียนแบบนี้
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 37 เรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ที่ระบุให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อความชัดเจนหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า มันชัดเจนอยู่แล้วว่า เสียงประชามติ คือการใช้เสียงข้างมากของคนที่ออกมาลงคะแนน ซึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เข้าใจแบบนี้เหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

** อนุฯชงแยกงานสอบสวนออกจากสตช.

วานนี้ นายอุดม รัฐอมฤต ประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย ได้แจกเอกสารผลการศึกษาต่อสื่อมวลชน โดยสรุปปัญหา และเสนอแนวทางปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเอกสารดังกล่าวนี้ ยังมิใช่มติของกรธ.
โดยเอกสารได้สรุปประเด็นปัญหา 4 ประการ คือ 1. ปัญหาการเมืองแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของตำรวจ 2. ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม 3. ปัญหางานสอบสวนถูกบงการจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 4. ปัญหาเนื้องานและปริมาณงานของตำรวจ
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯได้ทำข้อเสนอแนะโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีทั้งหมด 11 คน ให้นายกฯเป็นประธาน และไม่ให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แต่ให้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายของ สตช. พร้อมเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ประกอบไปด้วยกรรมการ 16 คน โดยมีวาระคราวละ 2 ปี และดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ โดยมีประธานกรรมการให้คัดเลือกจากอดีตผู้บัญชาการตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า โดยรับการลงคะแนนเลือกตั้งจากตำรวจ ยศพันตรวจเอก ขึ้นไป
ขณะที่กรรมการ ก.ตร. ประกอบด้วย ผบ.ตร. เลขาธิการ กพ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่าจำนวน 6 คน อดีตข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าจำนวน 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนจาก ครม. ผู้แทนจากวุฒิสภา และผู้มีความรู้จากสาขาวิชาต่างๆจำนวน 2 คน
รวมทั้ง ขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยใช้เกณฑ์อาวุโสเป็นหลัก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถประกอบด้วย
สำหรับไฮไลต์สำคัญของ คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจาก สตช. และไปตั้งเป็นสำนักงานสอบสวนคดีอาญาเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานสอบสวนคดีอาญา ประกอบด้วย สำนักคดีอาญา สำนักนิติวิทยาศาสตร์ สำนักพิสูจน์หลักฐาน และ สำนักทะเบียนประวัติอาชญากร และหากการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ อาจมีการย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาสังกัดสำนักงานดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนิคดีอาญาชั้นสอบสวน ฟ้องร้องเป็นขั้นตอนเดียวกัน และยังเห็นควรให้พนักงานอัยการเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีอาญา ทั้งนี้อาจเริ่มต้นคดีอาญาที่สำคัญ หรือคดีอาญาที่มีการร้องเรียนว่าการสอบสวนมิได้กระทำตามกฎหมายหรือไม่ได้รับความยุติธรรม
คณะอนุกรรมการฯ ยังเสนอให้มีการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ สตช.ไปหน่วยงานอื่น อาทิ งานด้านจราจร ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม อาทิ กทม. และ เมืองพัทยา โอนภารกิจทางด้านป้องกันและปราบปรามเกี่ยวการกระทำความผิดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปให้กระทรวงทรัพยากรฯ ถ่ายโอนภารกิจการป้องกันและปราบปรามกระทำผิดอาหารและยา ไปให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น