กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมปฏิรูปการศึกษามีข้อเสนอ 5 เรื่อง ให้มีสภาพบังคับผูกพันต่อทุกรัฐบาล ส่วนปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ชี้ปัญหาตำรวจต้องลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง มีเกณฑ์โยกย้ายให้ชัด จัดการสอบสวนปราศจากการก้าวก่าย ถ่ายโอนภารกิจไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้อง ด้านโฆษกรับเป็น 2 เรื่องที่อาจบัญญัติใน รธน.
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีการนำเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูป การศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย กรธ.นำเสนอว่า การปฏิรูปการศึกษาสามารถสรุปประเด็นที่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญออกเป็น 5 เรื่อง คือ ต้องมีการเขียนแผนการศึกษาให้มีสภาพการบังคับใช้เทียบเท่ากับกฎหมาย และมีผลผูกพันธ์กับทุกรัฐบาล รวมถึงต้องให้รัฐบาลแถลงและรายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวปีละครั้งต่อรัฐสภา ต้องมีกลไกบังคับใช้รัฐธรรมนูญด้านการศึกษาและมีกลไกส่งเสริมการคิดการตรวจสอบจากภาคประชาชน ต้องกระจายอำนาจและงบประมาณในการจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา ต้องปฏิรูปกระบวนการงบประมาณด้านการศึกษาให้เป็นการจัดสรรตามอุปสงค์เป็นรายบุคคล และต้องปฏิรูปนโยบายการศึกษาให้เป็นเชิงประจักษ์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ
นายอุดมกล่าวว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย เราได้ศึกษาปัญหาตำรวจ เพราะถือว่าตำรวจมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด จึงได้ศึกษาแนวทางปัญหาแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ 1. ตำรวจมักจะถูกแทรกแซงทางการเมือง ส่งผลถึงเรื่องการบริหารงานบุคคล มีการโยกย้ายทุกครั้งที่ฝ่ายการเมืองครอบงำ เป็นแนวทางระบบอุปถัมภ์ ไม่มีการคำนึงถึงระบบอาวุธโสหรือความสามารถ ดังนั้นต้องลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และต้องมีการบัญญัติหลักเกณฑ์ในการบรรจุและโยกย้ายให้ชัดเจนมากขึ้น 2. จัดการงานสอบสวนให้มีความเป็นภววิสัยและมีประสิทธิภาพ มีหลักประกันปราศจากการแทรกแซง เพราะที่ผ่านมางานสืบสวนมีการเข้าไปก้าวก่าย ทำให้การสืบสวนมีการคลางแคลงใจ 3. ต้องมีการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาตำรวจมีจำนวนไม่มากแต่ต้องทำงานในปริมาณที่มาก ดังนั้นอาจจะโอนงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นออกไปจากตำรวจ เช่น การบริหารงานจราจรอาจจะให้องค์กรส่วนท้องถิ่นดูแล การดูแลเกี่ยวกับการทำผิดทางทรัพยากรธรรมชาติอาจจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดูแลแทน และการคุ้มครองผู้บริโภคก็อาจจะให้ กระทรวงสาธารณสุขดูแลแทน
จากนั้น เวลา 15.00 น. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.แถลงผลความคืบหน้าการประชุมว่า การเสนอผลการศึกษาของอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายนั้น ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนจะมีการบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จะมีการหารือกันในช่วงที่ไปประชุมกันนอกสถานที่ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปมีการพูดกันต่างๆ นานา แต่ที่ประชุมเห็นว่าหากจะมีการบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญต้องเป็นเรื่องที่เร่งด่วนและที่ประชุมเห็นว่าเรื่องเร่งด่วนมีสองเรื่อง คือ เรื่องการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย