xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ถูกริบอำนาจถอดถอนนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (23พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว.และศาลรัฐธรรมนูญ
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีนางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายอุดม รัฐอมฤต เป็นอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาและศึกษาแนวทางปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องที่มา ส.ว. ทางกรธ. มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ต้องการให้วุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมือง ซึ่ง กรธ.ได้ศึกษาแนวทางในอดีต พบว่า การเลือกตั้งส.ว.ทางตรงจากประชาชน จะถูกอิทธิพลจากนักการเมืองแทรกแซง ส่วนการสรรหา ก็ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน และการนำทั้งสองแบบมาผสมกัน ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีหมดไป
ดังนั้น กรธ.จึงมีแนวคิดว่าจะใช้การเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิชาชีพ คัดเลือกตัวแทนของตัวเองมาเป็นส.ว. อาจจะเลือกเป็นตัวแทนตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จนกระทั่งได้ตัวแทนกลุ่มระดับประเทศ ในส่วนคนที่ไม่มีอาชีพก็อาจบัญญัติให้สังกัดในกลุ่มอื่นๆ โดยจำนวนส.ว.อาจจะมีจำนวน 200 คน ที่ กรธ.คิดว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า ส.ว.จะไม่มีอำนาจถอดถอน
นายนรชิต ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ เรื่องอำนาจการถอดถอนที่โอนไปให้องค์กรอิสระนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริง กรธ.กำหนดหน่วยงานที่พิจารณาให้นักกการเมืองพ้นตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนช่องทางการยื่นเรื่อง หรือให้องค์กรใดไต่สวน ว่าจะเข้าข่ายพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา ขณะที่ ป.ป.ช. จะไม่มีอำนาจถอดถอน แต่จะทำหน้าที่พิจารณาไต่สวน ชี้มูลความผิดนักการเมือง และข้าราชการในคดีทุจริต และส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น
ดังนั้น กรธ.ไม่ได้มีการโยกอำนาจการพิจารณาการพ้นตำแหน่ง หรือการถอดถอนไปให้องค์กรอิสระ แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น