xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.แย้ม ส.ว.เลือกตั้งทางอ้อม ชัดเจนไร้อำนาจถอดถอน ปัดโยกให้องค์กรอิสระแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประชุม กรธ. ตั้งอนุกรรมการพิจารณาปฏิรูปการศึกษาบังคับใช้กฎหมาย แจง ส.ว.ใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อมให้กลุ่มอาชีพกลุ่มอื่นๆ เลือก ชัดเจนแล้วไม่มีอำนาจถอดถอน แจงเข้าใจผิด ยันไม่ได้โยนอำนาจถอดถอนให้องค์กรอิสระ

วันนี้ (23 พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นเวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายสุพจน์ ไข่มุกต์ และนายอุดม รัฐอมฤต เป็นอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาและศึกษา แนวทางปฏิรูป การศึกษา และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายนรชิตกล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มา ส.ว.นั้น กรธ.มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าต้องการให้วุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมือง ซึ่ง กรธ.ได้ศึกษาแนวทางในอดีต พบว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ทางตรงจากประชาชนจะถูกอิทธิพลจากนักการเมือง ส่วนการสรรหาก็ขาดความเชื่อมโยงจากประชาชน และการนำทั้งสองแบบมาผสมกันก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีหมดไป ดังนั้น กรธ.จึงมีแนวคิดว่าจะใช้การเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิชาชีพคัดเลือกตัวแทนของตัวเองมาเป็น ส.ว. อาจจะเลือกเป็นตัวแทนตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จนกระทั่งได้ตัวแทนกลุ่มระดับประเทศ ในส่วนคนที่ไม่มีอาชีพก็อาจบัญญัติให้สังกัดในกลุ่มอื่นๆ โดยจำนวน ส.ว.อาจจะมีจำนวน 200 คน ที่ กรธ.คิดว่าเหมาะสมที่สุด รายละเอียดตรงนี้ กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว่า ส.ว.จะไม่มีอำนาจถอดถอน

นายนรชิตกล่าวต่อว่า ในส่วนที่มีการวิจารณ์เรื่องอำนาจการถอดถอนที่โอนไปให้องค์กรอิสระเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริง กรธ.กำหนดหน่วยงานที่พิจารณาให้นักกการเมืองพ้นตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนช่องทางการยื่นเรื่องหรือให้องค์กรใดไต่สวน กรธ.ว่าจะเข้าข่ายพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ยังไม่พิจารณา ขณะที่ ป.ป.ช.จะไม่มีอำนาจถอดถอน แต่จะทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนชี้มูลความผิดนักการเมืองและข้าราชการในคดีทุจริตและส่งฟ้องศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้น กรธ.ไม่ได้มีการโยกอำนาจการพิจารณาการพ้นตำแหน่งหรือการถอดถอนไปให้องค์กรอิสระแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น