โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยให้ศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดของศาล พร้อมกำหนดให้ กกต.7 คน อยู่ 7 ปี ให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อยื่นศาลฎีกาฯ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระส่อร่ำรวยผิดปกติ-ทุจริตต่อหน้าที่
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระ สาระสำคัญคือ ให้แยกหมวดศาลรัฐธรรมนูญออกจากหมวดองค์กรอิสระ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาล เพราะเท่าที่คุยกันเห็นว่ามีความเหมาะสมมากกว่าที่จะอยู่ในหมวดองค์กรอิสระ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ให้องค์กรอิสระรายงานผลการปฏิบัติงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบทุกปี พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบด้วย รวมถึงให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภา ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระกรณีต่างๆ ได้ เช่น กรณีร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น ส่วนเมื่อถูกชี้มูลจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ รายละเอียดจะอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ผู้พิพากษา 2 คน และสาขาวิชาชีพต่างๆ 5 คน ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต. คือ 7 ปี ทั้งนี้ กระบวนการสรรหายังไม่ได้พิจารณา ส่วนยังคงให้มี กกต.จังหวัดหรือไม่นั้น ที่ประชุมไม่ได้ข้อสรุป
นายนรชิตกล่าวอีกว่า ทาง กรธ.ได้พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีคำนวณผลการเลือกตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สูตรการคำนวณที่สามารถสะท้อนคะแนนนิยมของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง วิธีการนับคะแนนการได้มาของ ส.ส. ขณะนี้ กรธ.เห็นไปในทางเดียวกันว่า ให้มี ส.ส.500 คน เลือกตั้งโดยใช้บัตรลงคะแนนใบเดียวเพื่อเลือก ส.ส.เขตจำนวน 350 คน และให้นำคะแนนของทุกพรรคในทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณว่า แต่ละพรรคจะได้จำนวนส.ส.ทั้งหมดเท่าไร จากนั้นนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส. เขตที่ได้รับเลือก หากพรรคใดได้ ส.ส.เขตตามจำนวนที่ควรได้หรือเกินจำนวนแล้วก็จะไม่ได้ใน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก แต่หากพรรคใดได้ ส.ส.เขตไม่ถึงจำนวนที่ควรได้ก็จะได้จำนวน ส.ส.เพิ่มในส่วนบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีจำนวน 150 คน กรธ.พยายามหาวิธีการคิดคำนวณเพื่อไม่ให้เกิดการเกินจำนวน (โอเวอร์แฮงก์) ซึ่งวิธีนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังพร้อมรับฟังจากทุกภาคส่วน