รองประธาน สปท. หวัง ยุทธศาสตร์ชาติ ผลักดันไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้าน “ยงยุทธ” ยันคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐ เตรียมชง พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯเข้าที่ประชุม สปท. ก.พ. นี้ เมิน
ที่รัฐสภา วันนี้ (16 ม.ค.) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดสัมมนา เรื่อง “ประเทศมั่นคงประชาชน มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาตร์ชาติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อการกำหนดทิศทางของประเทศเพื่อให้มียุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้เป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ครอบคลุมภารกิจในทุกมิติและไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในแต่ละคณะเพื่อทำให้ชาติมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน และสามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามทิศทางที่ถูกกำหนดไว้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนา จำนวน 200 คน อาทิ ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. ผู้แทนคณะกรรมธิการสามัญประจำ สปท. ประชาชน นักเรียน โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องซ่อมสร้างประเทศ วางโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นกระบวนการที่รัฐบาลชุดต่อไปใช้เป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อลดช่องว่างในรัฐบาลแต่ละชุดแต่ละสมัยในการจะขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเราเห็นผลได้ในขั้นแรก จากชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ได้ให้ความสำคัญกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นที่สอง คือการได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนและขั้นสุดท้าย คือ การเคารพต่อยุทธศาตร์ด้วยหัวใจ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า เราไม่ควรคิดเพียงซ่อมประเทศ ก้าวข้ามความขัดแย้งเพียงเท่านี้ แต่ต้องขึ้นเป็นประเทศชั้นนำให้ได้ โดย สปท. ก็จะเป็นคนทำหน้าที่เปลี่ยนมายเซตคนไทย ให้เรามีความภาคภูมิใจในชาติ แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ชาติฯ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเป็นการออกแบบและขับเคลื่อนจากแม่น้ำ 5 สาย และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมีการเลือกตั้ง ท้ายสุดเราจะเห็นข่าวดี คือ ยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ดังนั้น การที่ สปท. ได้จัดการเสวนาในครั้งนี้ขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนซึ่งอาจจะถูกนำไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ด้าน พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านการพัฒนาของประเทศไทยขาดความต่อเนื่อง เพราะลักษณะของการเมืองส่วนใหญ่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์เฉพาะช่วงระยะเวลาของรัฐบาลมากกว่าผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งการทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้จะเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า และเป็นแม่บทในการกำหนดนโยบาย กำหนดทิศทางขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงกำหนดแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อการบูรณาการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งทาง คณะกรรมาธิการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน สปท. ได้เสนอแผนการปฏิรูปไว้ 4 ด้าน คือ 1. ให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ โดยเราจะได้เห็นร่างดังกล่าวในวันที่ 29 มกราคมนี้ 2. ให้ยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนมีรัฐบาลต่อไป โดยในระหว่างนี้อาจจะให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาตร์ใช้ไปพลางก่อน 3. สนับสนุนความมุ่งมั่นของรัฐที่มีเจตจำนง ให้มียุทธศาสตร์ชาติ 4. การเผยแพร่ทำความเข้าใจและสร้างปณิธานร่วมในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาตร์ชาติ
พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับกลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ เรามีการตั้ง สองคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือ นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช.ประธาน สปท. จำนวน 23 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากหมดวาระก็ต้องไป อย่างประธาน สนช. และ สปท. หากหมดวาระตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ต้องไปแล้วเปลี่ยนมาเป็นประธานวุฒิสภาและประธาน สภาแทน ส่วนอีกกลุ่ม คือ คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งตรงนี้ตัวคณะรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ดังนั้น เรื่องที่จะมีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเป็นไปไม่ได้และไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานสัมมนามีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมได้ซักถามวิทยากร โดยมีการถามในส่วนหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติที่วางไว้ 20 ปี จะเป็นอย่างไร พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวตอบว่า ตัวของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติลงไปแต่กำหนดหลักการว่าต้องเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เราไม่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญเพราะหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พ.ร.บ. ดังกล่าวก็จะไม่ผ่านด้วย และหากร่างผูกติดเมื่อมีการแก้ไขก็จะยุ่งยาก หากถูกฉีกก็ต้องพ้นไปด้วย ดังนั้น เราจึงร่างเป็น พ.ร.บ. ว่าด้วยยุทธศาสตร์แห่งชาติขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับ ร่างรัฐธรรมนูญ มีการหารือกับ วิป สปท. แล้วจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม สปท. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ หากผ่านก็จะนำไปเสนอรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ดี ตามที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเสร็จทันแผนที่วางไว้ คือ 1 ตุลาคมหรือไม่นั้น ขณะนี้ เรามีการประสานหารือกับฝ่ายกฤษฎีกาเรื่อยมา ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลหากเขียนยุทธศาสตร์เป็นระยะเวลา 20 ปีแล้วสถานการณ์เปลี่ยนจะทำอย่างไร ต้องบอกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุก 5 ปี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมเสนอให้บัญญัติว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองต้องผูกโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งให้มีบทลงโทษผู้ที่ไม่ทำ ซึ่ง พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่า เราไม่ขอก้าวล่วงไกลขนาดนั้น มันไม่จำเป็น เพราะเรามองว่าหากประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองหาเสียงมีนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติก็อย่าเชื่อเขาเพราะเขาทำไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น ตรงนี้ไม่ต้องเขียน ความเป็นจริงเห็นอยู่แล้ว แม้จะมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ตนเห็นว่าไม่จำเป็น