xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ชี้ผู้แทนต้องพฤติกรรมดี หนุน รบ.ผสม สปช.ตั้งฉายา รธน.น้ำพริกปลาทู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุจิต” แจง กมธ.ยกร่างฯแก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภา ผู้แทนต้องพฤติกรรมดี สร้างแนวคิดใหม่เลือกตั้งไม่ใช่แลกประโยชน์ ย้ำนายกฯ ไม่บังคับนั่ง ส.ส. ให้มีทางออกวิกฤต “เอนก” ชี้ปรองดองเริ่มคู่ขัดแย้งเข้าใจกัน หนุนเกิดรัฐบาลผสม เพิ่มบทบาท ปชช. “เสี่ยจ้อน” ตั้งฉายา รธน.น้ำพริกปลาทู เหมาะไทย กมธ.ปฏิรูปพลังงานแนะทบทวน ม.64 หวั่นกระทบบิ๊กโปรเจกต์ ห่วงสมัชชาพลเมืองรวมนักการเมืองสอบตก

วันนี้ (20 เม.ย.) การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายในส่วนของภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดีว่า ในการสร้างการเมืองที่ใสสะอาดและสมดุลนั้น หลักสำคัญก็คือการเมืองที่ใสสะอาดตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ที่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แต่ประเด็นที่มีการพูดจากันมากก็คือระบบรัฐสภาที่ประเทศไทยนำมาใช้นั้น มีการยอมรับว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพทางการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทาง กมธ.ยกร่างฯ มีโจทย์ที่จะต้องแก้ไขคือจะต้องแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นกรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นประเด็นที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกหลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างในขณะนี้ คือ การที่มีผู้นำมีอำนาจมากเกินไปจนมีการใช้อำนาจโดยมิชอบจนนำไปเกิดการเมืองแบบเผด็จการรัฐสภา นอกจากนี้ การขยายตัวของการใช้อำนาจที่มิชอบในการบริหารราชการบ้านเมืองจนกระทั่งก่อให้เกิดการขยายตัวของการใช้นโยบายที่ผิดพลาดนำความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของประเทศชาติรวมทั้งการคอร์รัปชันที่มีการแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง

นายสุจิตกล่าวต่อว่า ประเด็นที่จะต้องแก้ไขที่จะทำให้การเมืองใสสะอาดนั้นก็จะต้องสามารถได้ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส., ส.ว., คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น ต้องมีประวัติและพฤติกรรมที่เหมาะสมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีพฤติกรรมไม่เคยหลีกเลี่ยงภาษี โดยต้องมีหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นพลเมืองที่ดีไม่เคยเพิกเฉยต่อหน้าที่ และไม่เคยกระทำผิดทางอาญาจนถึงคำพิพากษาถึงจำคุกหรือพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี เป็นต้น และยังมีบทบัญญัติในภาคนี้อีกไม่น้อยที่พูดถึงคุณธรรม จริยธรรม ที่กำหนดเพื่อให้ผู้นำทางการเมืองจะต้องทำคำนึงถึงประโยชน์ของของชาติ ไม่คำนึงประโยชน์ส่วนตัว ส่วนกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. มีการปรับระบบใหม่คือระบบสัดส่วนแบบผสม การใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้เป็นการสะท้อนความต้องการอย่างถูกต้องของพลเมืองในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนการแก้ปัญหาในการซื้อเสียงนั้นจะแก้ไขแต่เพียงระบบการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวหรือการออกกฎที่เข้มงวดนั้นไม่ได้ แต่จะต้องสร้างแนวความคิดใหม่ให้แก่ผู้เลือกตั้งและผู้สมัครว่า การเลือกตั้งไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เฉพาะหน้าแต่เป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยของผู้เลือกตั้งที่สำคัญ

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นมีรูปแบบที่แตกต่างจาก ส.ส. เพราะถ้าให้มีการเลือกตั้งก็จะได้ ส.ว.ที่มีฐานเดียวกับ ส.ส. โดยมีการแบ่งที่มาของ ส.ว.ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เลือกกันเองในส่วนของอดีตข้าราชการ การสรรหาของกลุ่มวิชาชีพและการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดจากผู้สมัครที่ได้รับการกลั่นกรองคณะกรรมการฯทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.ส่วนเรื่องของคณะรัฐมนตรีนั้น ถ้ายึดหลักในระบบรัฐสภา ก็ถือว่านายกรัฐมนตรีก็จะถูกเลือกโดยสภาฯ แต่ในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดลงไปว่าผู้ที่ได้รับเลือกจะมาจาก ส.ส.เท่านั้น

“เป็นการเปิดกว้างมากขึ้นอยู่กับความต้องการของ ส.ส.ว่าจะต้องการแบบใดทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤตเกิดขึ้นอีก ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า หากเลือกจาก ส.ส.ใช้เสียงเพียงแค่กึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเลือกจากคนนอกต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งความสมดุลในอำนาจระหว่าง ครม.กับสภาฯ นั้นได้มีมาตรการบางประการที่ป้องกันไม่ให้เกิดความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ซึ่งจะเกิดจากการเลือกตั้งแบบ MMP เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหากรัฐบาลแพ้ผลโหวตอายุของ ส.ส.ก็จะหมดไปและให้มีการเลือกตั้งใหม่ สุดท้ายนักการเมืองยังต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐและภาคพลเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด”

ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการปฏิรูปและการปรองดองว่าการสร้างความปรองดองเริ่มจากการสร้างความเข้าใจของ 3 ฝ่าย คือ แดง เหลือง และฝ่ายที่ 3 ให้เกิดความรู้รักสามัคคี นอกจากนั้นยังได้วางกลไกต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ สร้างระบบเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสมเพราะจะใช้ระบบเดิมใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่ามีการพิจารณาจากเหตุความวุ่นวายในอดีตตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหากเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียวแล้วนำพรรคเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองเข้าร่วมและจะมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวนั้นเป็นไปได้ยากมากฉะนั้นจึงอยากขอให้ สมาชิก สปช. สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างพรรคการเมืองและความปรองดองระหว่างสี

“ภาคใต้จะไม่เป็นของประชาธิปัตย์ ภาคเหนือ อีสานจะไม่เป็นของเพื่อไทย ทั้งหมด กรุงเทพฯ ไม่เป็นของ ปชป.เกือบหมด ระบบนี้จะสร้างความปรองดองระหว่างกัน นานเหลือเกินที่กลายเป็นมายาคติว่าแต่ละภาคผูกขาดอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ระบบผสมจะทำให้ได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้น” นายเอนกกล่าว

นายเอนกกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเกิดความปรองดองระหว่างตัวแทนของประชาชนในการเลือก ส.ว.เพราะจะมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งและอีกส่วนหนึ่งจะมาจากตัวแทนวิชาชีพ อดีตข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร กล่าวคือจะได้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละกลุ่มเข้าร่วมการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาเพราะ ส.ว. สามารถเสนอกฎหมายได้ด้วยอีกหนึ่งประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจของประชาชนมากขึ้นประชาชนไม่ใช่เจ้าของประชาธิปไตยเพียง 4 นาที ที่ให้อำนาจนักการเมือง 4 ปีอีกต่อไป แต่ประชาชนจะมีอำนาจโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผ่านเวทีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและการลงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้นการให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้นจะเป็นการปรองดองระหว่างประชาชนและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะในอดีตประชาชนสามารแสดงบทบาทได้ทางเดียวคือการเดินสู่ท้องถนน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดการปรองดองในอีกมติหนึ่ง

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมเสริมสร้างการปรองดองแห่งชาติเพื่อดูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และเสนอกฤษฎีกาอภัยโทษรวมถึงสร้างความเข้าใจกับทุกคนให้เห็นถึงความแตกต่างส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ คณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่สามารถพูดว่าประเทศไทยเกิดสันติสุขได้โดยฝ่ายเดียวทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันให้ข้อคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นเอาไว้การไม่บัญญัติรายละเอียดเพื่อเป็นการเปิดช่องให้ สปช.ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอวิธีการในส่วนดังกล่าว

“ประเด็นท้ายสุดการปฏิรูปคือการปรองดองนานเหลือเกินที่เรามีความขัดแย้ง ระหว่างข้าราชการ ประชาชน นักการเมืองหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะนำไปสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริง” นายอเนกกล่าว

ส่วนนายปกรณ์ ปรียากรณ์ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ชี้แจงถึงภาคสิทธิพลเมืองที่จะเสริมสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ ในหมวดที่ 2 ประชาชน ส่วนที่หนึ่งความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมืองที่กำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีฐานะเป็นพลเมืองและมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พลเมืองมีหน้าที่ไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติโดยคุ้มครองสิทธิ์ของทารกและแม่รวมถึงประชาชนให้เข้าถึงการบริหารสาธารณสุขจากรัฐโดยทัดเทียมทั่วถึงและมีมาตรฐาน ในกรณีทีได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขของรัฐจะได้รับการชดเชยความเสียหายนั้นด้วย รวมถึงการวางมาตรฐานด้านการศึกษาที่ให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายการศึกษาโดยการสนับสนุนของรัฐทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จาก 12 ปีเป็น 15 ปี พร้อมยังคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของพลเมืองให้รับค่าจ้างเป็นธรรม มีสวัสดิการและหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญห้ามไม่ให้รัฐเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทย ในส่วนของสิทธิชุมชนซึ่งถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ให้สิทธิพลเมืองในชุมชนปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อมของชุมชนทั้งยังสามารถตรวจสอบและรับทราบการดำเนินการของรัฐที่มีผลกระทบต่อพลเมืองและชุมชนนั้นด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายในบททั่วไปภาค 1 มีทั้งสิ้น 7 มาตรา โดยสาระเป็นการวางหลักการสำคัญของประเทศ เช่น ประเทศไทยถือเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกได้, ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และศาล โดยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ครม. และศาล รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งนี้ประชาชนย่อมได้อยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน ขณะที่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด และกำหนดให้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็น ให้สิทธิสภาฯ, วุฒิสภา, รัฐสภา ครม. ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้บังคับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.อภิปรายชื่มชมการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้วางบทบัญญัติเพื่อแก้ปัญหาในอดีตเพื่ออนาคตของประเทศ โดยได้ให้ฉายาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอต่อ สปช.ว่าเป็นฉบับน้ำพริกปลาทู คือ มีความเหมาะสมกับสังคมไทย นอกจากนั้นได้ขอให้กมรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล้าที่จะพิสูจน์ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการทำประชามติ แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้วิจารณ์ โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากดำเนินการจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนกับรัฐธรรมนูญ ที่ทุกตัวอักษรเขียนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและอนาคตของคนไทย

ด้านนางพันธุ์ทิพย์ สายสุนทร สปช.อภิปรายขอให้เพิ่มบทบัญญัติในบททั่วไป เพื่อให้การรับรองสถานะของบุคคล เช่น คนบนภูเขา ได้รับการปฏิบัติและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามที่กรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เสนอ ได้แก่ มาตรา 4 ในวรรคสอง ที่ว่า “บุคคลมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือเป็นบุคคลตามกฎหมาย” เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ และขอเพิ่มมาตรา 5 วรรคสอง “คนสัญชาติไทยย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ว่าอาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศ” เพื่อสร้างการปฏิรูปของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลคนสัญชาติไทยในต่างประเทศทุกระดับด้วย
กมธ.ปฏิรูปพลังงานแนะทบทวนม. 64 หวั่นกระทบบิ๊กโปรเจ็ก

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.อภิปรายว่า ตนเกรงว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ มาตรา 64 ว่าด้วยการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยบุคคลซึ่งมิได้มีส่วนได้เสีย (EIA, HIA) อาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ และโครงการใหญ่ๆ จะช้าลง และมีข้อสังเกตว่า การทำ EIS และ HIA ตามรัฐธรรมนูญนี้ห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ทำ แต่ในความจริงผู้ประกอบก็คือ คนที่จ้างให้ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดการศึกษา ถามว่าถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้จริงใครจะเป็นผู้จัดทำ ดังนั้นจึงขอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

นายสยุมพร ลิ่มไทย กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนประเด็นสิทธิพลเมืองไว้มาก ซึ่งหลายข้อจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากหน่วยงานภาครัฐไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 64 การมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งเคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆมาแล้ว แต่ไม่เกิดผลในการรับรองสิทธิของประชาชน เพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องออกมาภายหลัง ดังนั้นสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญถ้าไม่สามารถนำไปบังคับให้เกิดผลทางปฏิบัติได้ก็ไม่มีประโยชน์ จึงฝากกรรมาธิการยกร่างฯ ให้เขียนรัฐธรรมนูญที่ต้องมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังด้วย

ส่วนประเด็นการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโดยให้มีสมัชชาพลเมือง มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองระดับจังหวัด ตนเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนกัน เพราะทั้งสององค์กรมีหน้าที่ในการตรวจสอบเหมือนกัน ทั้งนี้ การตรวจสอบระดับท้องถิ่น ถ้ามองในแง่ดีคือประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบใกล้ชิด แต่หากมองอีกมุมเกรงว่าสมัชชาพลเมืองจะเป็นศูนย์รวมของบรรดานักการเมืองที่สอบตก เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง ตนจึงอยากฝากให้มีสภาพลเมืองเพียงสภาเดียวได้หรือไม่ โดยตรวจสอบในระดับจังหวัดก็น่าจะเพียงพอ เพราะแม้ว่าตนจะเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ที่ให้พลเมืองเป็นใหญ่ แต่ยังสำคัญน้อยกว่าการให้พลเมืองมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ควรทำให้การตรวจสอบอยู่ในระดับที่พอดี

สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) จะเป็นการอภิปรายในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี มีสมาชิกแจ้งความจำนงขออภิปราย รวมทั้งสิ้น 113 คน และมีส่วน สปช.ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูป แจ้งความจำนงอภิปรายรวม 13 คณะ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาการอภิปรายในภาคดังกล่าวจำนวน 2 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 21-22 เม.ย.










กำลังโหลดความคิดเห็น