ตลอดรถยนต์ชะลอตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบของโครงการรถคันแรก ผสานกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในปี 2559 หลายฝ่ายเชื่อว่ายังจะไม่ปรับตัวฟื้นมากนักแล้ว ยังมีจุดเปลี่ยนและความท้าทายอุตสาหกรรมรถยนต์สำคัญ เห็นได้จากการสะท้อนมุมมองในงานสัมมนา “CEO TALK : ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2016” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย (สรยท. หรือ TAJA) ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน...
รัฐบาลปรับวางพื้นฐานอุตฯ ใหม่
พรชัย ตระกูลวรานนท์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ปีหน้ารัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองการเติบโตในระยะยาว โดยได้มีโครงการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบครัสเตอร์อุตสาหกรรม และยานยนต์เป็น 1 ในซูเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมของแผนดังกล่าว เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงใหม่ๆ ส่งเสริมการผลิตแบบห่วงโซ่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงยกเว้นภาษีและสิทธิพิเศษในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์
การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่จะเริ่มใช้ 1 มกราคม 2559 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก หรือมาตรฐานสากล ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ด้วยการมุ่งเน้นเรื่องลดมลภาวะ และโดยเฉพาะการเพิ่มความปลอดภัย ที่จะช่วยลดภาระทางสังคมจากเรื่องอุบัติเหตุและสิ่งแวดล้อมได้มาก นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ท้าทายสำคัญในปีหน้า คือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นตลาดเดียว มีขนาดของผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน นับเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน
“การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการวางพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการชี้ทิศทางและโอกาส ส่งเสริมการเป็นฐานผลิต และพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาวใน 20-30 ปีข้างหน้า”
ภาษีรถใหม่ไปเร่งดึงกำลังซื้อปี2559
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
เชื่อว่าปี 2559 เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวช้าๆ และน่าจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ สำหรับในปี 2558 นี้ คาดว่าตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 7.8 แสนคัน จากปีก่อนหน้า 8.8 แสนคัน ทำให้ประเมินว่าตลาดรถปีหน้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ แต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะมีการปรับราคาขึ้น ย่อมส่งผลให้มีการดึงกำลังซื้อจากปี 2559 มาประมาณ 1.5 หมื่นคัน ดังนั้นยอดขายจริงๆ ของปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 7.65 แสนคัน หากยอดขายของปี 2559 ใกล้เคียงหรือเท่ากับปีนี้ ฐานตลาดจริงเมื่อตัดกำลังซื้อล่วงหน้าไป จึงคาดว่าจะมีประมาณ 7.5 หมื่นคัน แต่ปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการกระจายเงินลงทุนของรัฐบาล อาจจะทำให้ตัวเลขการขายใกล้เคียงกับปี 2558
ส่วนภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2.9 ล้านคัน(ปัจจุบันมีกำลังการผลิตจริงประมาณ 2 ล้านคัน) หากตัดตลาดภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคัน ที่เหลือจะต้องส่งออกทั้งหมด นั่นจะต้องเจอกับปัจจัยผันแปร ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้า AEC หรือข้อตกลงต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่าง TPP ที่เบื้องต้นอาจจะกระทบในภาคสิ่งทอ และเกษตรกรรม แต่การที่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้าไป หากไทยไม่เข้าร่วมในอนาคตอาจจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เสียเปรียบได้
รถพลังงานสะอาดจุดเปลี่ยนต่อไป
เพียงใจ แก้วสุวรรณ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์
บริษัท นิสสันมอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ในการประชุมลดสภาวะโลกร้อน หรือ COP21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ลงนามข้อตกลงจะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศในที่ประชุมว่าไทยมีแผนดำเนินการจะลดมลภาวะ 20-25% ในปี 2030 โดยหนึ่งในแผนจะมีการสนับสนุนรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือพลังงานทดแทน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นทิศทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์จะไปในทิศทางใด สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว ไม่ว่าจะโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ หรือการที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแผนเกี่ยวกับการสนับสนุนรถไฟฟ้าภายในปี 2559
ดังนั้นนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีรถยนต์ที่มีพลังงานสะอาด และสามารถตอบสนองสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสารถการเป็นโปรดักต์แชมเปียนตัวใหม่ของประเทศ รวมถึงตระหนักและรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
ไลฟ์สไตล์-สื่อโซเชียลมีบทบาทขึ้น
ปาสคาล เศรษฐบุตร
รองประธานฝ่ายขายและความพึงพอใจของลูกค้า
บริษัท มาสด้าเซลส์ ประเทศไทย จำกัด
ในปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงประเมินตัวเลขยอดขายลำบาก เพราะนอกจากเรื่องของเศรษฐกิจ ยังมีปัจจัยสำคัญๆ อย่างการใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกันความต้องการใช้รถที่เดิมจะมีปิกอัพ และรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง จะมีรถยนต์เซกเมนท์ใหม่ๆ อย่างครอสโอเวอร์ รวมถึงความพิถีพิถันในการเลือกซื้อรถ หรือตอบสนองไลฟ์สไตล์ของตนเองมากขึ้น เหตุนี้ทิศทางของการพัฒนารถยนต์ จึงต้องปรับตัวพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้า เรื่องของสภาวะแวดล้อม และความปลอดภัยเป็นสำคัญ
นอกจากนี้การตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภค มีการใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หรือสื่อโซลเชียลมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมสัดส่วนมีเพียง 33% ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 50% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 67% ในปีต่อๆ ไป และจากการสำรวจผู้บริโภคที่หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จะไม่ค่อยมีความพอใจต่อการบริการมากกว่าผู้ไม่ได้ใช้ นั่นแสดงให้เห็นว่าคนใช้อินเตอร์เน็ตได้ศึกษาและเข้าใจรถมาก่อนเป็นอย่างดี ตรงนี้จะทำให้บริษัทรถต้องพัฒนาการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคตามไปด้วย
ต้องมองโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่
องอาจ พงษ์กิจวรศิลป์
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สิ่งที่น่าห่วงมากคือปัจจุบันประเทศไทยผลิตรถรวมประมาณ 2 ล้านคัน แต่ศักยภาพการผลิตจริงของไทยมีถึง 3 ล้านคัน ดังนั้นจึงต้องมาคิดดูว่าทำอย่างไรให้ผู้ผลิตอยู่รอดได้ ซึ่งการส่งออกเป็นวิธีที่จะช่วยได้มากที่สุด แต่แน่นอนการสามารถแข่งขันในตลาดได้ ต้องช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาลนอกเหนือจากใช้มาตรการภาษีมาเป็นตัวดึง ต้องสร้างบ้านให้ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุน ทั้งเรื่องหลายเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน บุคลาการ ศูนย์ทดสอบ และกฎระเบียบต่างๆ
แน่นอนประเทศไทยต้องมีกลยุทธ์ และเป็นฐานการผลิตรถยนต์บางประเภท ไทยไม่ใช่ตลาดใหญ่เหมือนจีนจึงต้องมีโปรดักต์แชมเปียน หลังจากมีปิกอัพ และอีโคคาร์แล้ว ต่อไปต้องวางแผนเรื่องรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่พูด คือรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ ไทยมียอดขาย 3 หมื่นคัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เริ่มวางแผนส่งออกแล้ว จึงควรต้องสนับสนุนรถบัสและรถบรรทุกให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนรถจักรยานยนต์ที่ปัจจุบันมีการผลิต 2 ล้านคัน โดยไทยเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียที่ผลิตได้ 7 ล้านคัน และเวียดนามกำลังไล่ตามมา ดังนั้นต้องคิดว่าทำและพัฒนาอย่างไร? ให้ไทยเป็นศูนย์พัฒนาจักรยานยนต์ของโลกให้ได้