หากโฟกัสไปที่รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 (Green Industry Level 5) ระดับสูงสุดที่เรียกว่าเครือข่ายสีเขียว หรือ Green Network เดชา จาตุธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า
“ไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่นำอุตสาหกรรมสีเขียวมาใช้ในอาเซียน ตอนนี้เราตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2561 จะได้ถึง 4-5หมื่นราย โดยจะให้ระดับ 3-5 ไปเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสถานประกอบการที่เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในระดับต้นๆ เรามองเป้าหมายใหญ่คือเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ซึ่งตอนนี้เรายังเป็นผู้นำ”
ในปีนี้ “SCG-PTTGC-เชฟสกิน” นำขบวนก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในระดับสูงสุด พร้อมเผยเคล็ดที่ไม่ลับในการลดปัญหา สิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Network)
วิสุทธิ จงเจริญกิจ ผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ SCGไม่ว่าจะทำธุรกิจใดๆ จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์องค์กรที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่การหาพื้นที่สำหรับก่อตั้งโรงงาน ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของชาวชุมชน รวมถึงความต้องการของชุมชน ซึ่งก่อนที่จะสรุปเรื่องพื้นที่ก่อตั้งโรงงาน จะทำทุกอย่างๆ มีขั้นตอนและระมัดระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างปัญหาให้กับชุมชนบริเวณใกล้เคียง
ดังนั้น SCG จึงสร้างระบบ และกระบวนการ ทั้งการบริหารจัดการสีเขียว การจัดซื้อจะต้องได้วัตถุดิบที่มีมาตรฐาน รวมไปถึงการใช้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เราใช้เวลานานเกือบปีกว่าจะสรุปการจัดตั้งโรงงานและพันธมิตรคู่ค้าในการผลิตสินค้า ซึ่งที่โรงงานแก่งคอย SCG ก็พัฒนาโรงงานร่วมกับชุมชน
อย่างกรณีการไปลงทุนที่ประเทศพม่า ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ จึงทำการสำรวจก่อนว่ามีอาชีพจับปลามากน้อยแค่ไหน หากตั้งโรงงานแล้วจะส่งผลกระทบต่ออาชีพคนจับปลาหรือไม่ ในกรณีใช้เวลาศึกษาผลกระทบนานเกือบ 2 ปี จนมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงได้ขออนุมัติสร้างโรงงาน
นอกจากนี้ SCG ยังนำเรื่องกรีนซัปพลายเชนมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าที่ตอบสนองลูกค้าด้วย ลูกค้าก็จะได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สีเขียว
ด้านความยั่งยืนนั้น เนื่องจากเป็นบริษัท 100 ปี บางครั้งก็จะเจอภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง และหากจะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ จะต้องพยายามลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหากมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายก็ต้องทำให้ลดลง ซึ่งจะต้องเข้าไปดูว่า ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ พันโทสุปรีชา ชลสาคร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากร บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตถุงมือทางการแพทย์เป็นบริษัทของอเมริกา จึงมีนโยบายสำคัญคือการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยอย่างเคร่งครัด นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธรรมาภิบาลหรือ อุตสาหกรรมสีเขียว
อย่างไรก็ดี ประชาชนมักจะมองว่าอุตสาหกรรมแบบเซฟสกินเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ในอดีตเซฟสกินเคยถูกชุมชนโดยรอบปิดล้อมโรงงาน ประมาณ 3-4 ครั้ง เมื่อปี 2551 ในข้อหาทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดเปลี่ยนที่เซฟสกินได้สร้างความเข้าใจกับชุมชน ทำให้รู้ว่าถึงแม้จะใช้ข้อกฎหมายมาอธิบายกันอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับชุมชนได้ จึงต้องมีการติดตั้งเครื่องมือออนไลน์ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่างๆ ให้ชุมชนทราบ แต่ชุมชนไม่เอา เขาบอกว่าหากต้องการให้ชุมชนเกิดความมั่นใจก็ให้เลี้ยงปลาบริเวณรอบๆ โรงงาน เพราะถ้าหากปลาอยู่ได้แปลว่าโรงงานไม่ปล่อยน้ำเสีย เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเรามีความจริงใจ
ด้านการแข่งขันทางธุรกิจ หากล่าช้าก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จึงต้องมีการลดต้นทุน เสริมประสิทธิภาพการทำงาน จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีวิธีที่แตกต่างกัน โดยเซฟสกินจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลกำไรด้วย
การสร้างพันธมิตรเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมด้วยกันเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าโรงงานเซฟสกินทำดีแล้ว แต่โรงงานใกล้เคียงไม่ปฏิบัติตามสังคม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อโรงงานเราด้วย บริษัทจึงชวนโรงงานรอบข้างเข้ามาปฏิบัติในแนวเดียวกัน ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจะมีข้อดี คือ เมื่อมีปัญหาเราไม่ได้คิดคนเดียว ชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิดแก้ปัญหานี้ด้วย ขณะที่ภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา บริษัทสร้างความร่วมมือกับชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รวมไปถึงภาครัฐควรดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่นยืน
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในวงการอุตสาหกรรม คือกลุ่มที่ไม่ยอมเข้ามาร่วมในอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเฉพาะระบบธรรมาภิบาล หากทางกระทรวงอุตฯ สามารถทำให้โรงงานเหล่านี้มาประสานงานกันได้ย่อมจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย”
ด้าน นิคม เกษมปุระ ผู้จัดการฝ่าย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานนั้น บริษัทจะมองในเรื่องของการออกแบบอาคารก่อนว่า อุตสาหกรรมของบริษัทมีความเสี่ยง และมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับชุมชน ซึ่งจะต้องมองไปในเรื่องการเลือกเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมสิ่งที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ โรงงาน ถ้าเรื่องใดไม่สามารถดำเนินการควบคุมได้ ก็จะไม่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้น
เช่นเดียวกับเรื่องการนำวัตถุดิบมาผลิตก็จะเลือกวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำและพลังงานด้วย