รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้อกังวลใจเรื่องสิทธิบัตรยาจากผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น ชี้ชัดว่าการเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลง TPP, RCEP, EU และ ASEAN นับเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการผลักดันการส่งออก
TPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก TPP เป็นตัวอย่างข้อตกลงการเจรจาเปิดเสรีการค้าของกลุ่มประเทศปัจจุบันมี ประเทศสมาชิก 12 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งได้บรรลุผลการเจรจาความตกลงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากรัฐสภาของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อให้สัตยาบันภายใน 2 ปีนับจากวันที่ 5 ตุลาคม 2558
เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของ TPP พบว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมยาและชีววัตถุ จึงมีระบุใน TPP ที่ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาจึงมีความเข้มงวด เกินกว่าข้อตกลงพหุภาคี หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส (TRIPs-plus) ในทำนองเดียวกับ ร่างเนื้อหาของ ไทย อียู เอฟทีเอ ที่ผ่านมา ซึ่งพบประเด็นทริปส์พลัสในส่วนสิทธิบัตรยา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่ม TPP และประเทศไทย ล้วนมีความกังวลในผลกระทบจากข้อตกลงเหล่านี้ต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยา
ย้อนมอง มหากาพย์เรื่องการค้า และสิทธิบัตรยา ของไทยกับประเทศมหาอำนาจ ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน
2522 คุ้มครองกรรมวิธีผลิต อายุสิทธิบัตร 15 ปี: ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยให้การคุ้มครองยาและผลิตภัณฑ์ยา เฉพาะกรรมวิธีผลิตยา ไม่ให้การคุ้มครองตัวยาและผลิตภัณฑ์ยา เพื่อให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตยาของประเทศ เนื่องจากการให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ระบบสิทธิบัตรนั้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการประดิษฐ์ค้นคว้าภายในประเทศ ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศสูงขึ้น จึงขยายการคุ้มครองไปสู่ผลิตภัณฑ์ยา
2528-2535 สหรัฐอเมริกาเจรจาการค้าสองฝ่ายกับไทย: สหรัฐฯเสนอให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP เพื่อแลกเปลี่ยนให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรตัวยาและผลิตภัณฑ์ยา และขยายอายุสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งถูกคัดค้านจากนักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบด้านลบต่อระบบยาและสุขภาพ ท้ายสุดในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรตามข้อเสนอของสหรัฐฯ
2537 กำเนิดความตกลงทริปส์ องค์การการค้าโลก: ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลกปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คือ ความตกลงทริปส์ ในปี 2537 ซึ่งเป็นความตกลงที่วางกติกาขั้นต่ำในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตร ที่ให้การคุ้มครอง สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ รวมทั้งยาและผลิตภัณฑ์ยา กำหนดอายุสิทธิบัตร 20 ปี บังคับใช้กับประเทศสมาชิกกว่า 150 ประทศ อย่างไรก็ตาม ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันมาก จึงได้ขยายเวลาการบังคับใช้ตามความตกลงทริปส์สำหรับประเทศต่างๆ คือ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา ต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศในปี พ.ศ. 2538, 2543, และ 2548 ตามลำดับ แต่ประเทศไทยได้แก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรเป็นไปตามความตกลงทริปส์ ก่อนเวลาที่กำหนดถึง 8 ปี เนื่องจากความกดดันจากการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา
2547-2549 เจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ: สหรัฐฯ ต้องการขยายอายุสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่าที่ระบุในข้อตกลงทริปส์ หรือ เรียกว่า “ทริปส์พลัส” ปัจจุบันไม่มีการเจรจาต่อ
2555-2557 เจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู: อียู ต้องการขยายอายุสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่าที่ระบุในข้อตกลงทริปส์ หรือ เรียกว่า “ทริปส์พลัส” ปัจจุบันไม่มีการเจรจาต่อ
2551-2558 เจรจา TPP: สมาชิก 12 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สรุปเนื้อหาการเจรจาความตกลง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 โดยมีประเด็นขยายอายุสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่าที่ระบุในข้อตกลงทริปส์ หรือ เรียกว่า “ทริปส์พลัส” ที่อย่างมาก เมื่อเทียบกับเนื้อหาเอฟทีเอที่ผ่านมา
จะเห็นว่า ประเทศต่างๆ ล้วนมียุทธศาสตร์การเจรจาการค้าตามความได้เปรียบที่แน่วแน่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ต้องการให้มีความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับประเทศไทยก่อนที่จะเข้าร่วมในการเจรจาหรือเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าจำเป็นต้องวิเคราะห์ความสามารถเชิงเปรียบเทียบและสถานการณ์ของประเทศในภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน ร่วมกับการใช้กลยุทธการเจรจา ผ่านการเปิดเวทีสาธารณะวงกว้าง เปิดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนในการนำเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อมาแลกเปลี่ยนและค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบต่อการสาธารณสุขและระบบยาในประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้สอดคล้องกับกระบวนการตัดสินใจต่อรอง รับมือ กับประเทศยักษ์ใหญ่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่