xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์ หน้าบาน สัญญาณบวกจากมะกัน ตะวันตก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน



เชื่อว่ หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางอันยาวนานครั้งแรกสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นคือ การเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 - 30 กันยายน คงจะต้องกลับมานั่งครุ่นคิดจนได้คำตอบกับตัวเองหลายอย่างเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ภาพทางกาเมืองเฉพาะหน้า ถือว่าเขาประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ทั้งในด้านมวลชนสนับสนุนให้กำลังใจที่มาถูกที่ถูกเวลา เมื่อเทียบกับฝ่ายตรงข้ามที่ตั้งใจมาป่วน เพื่อหวังประจานฉีกหน้าเขาในฐานะ “ผู้นำเผด็จการ” ในความหมายของตะวันตก ก็มีอันต้องล้มเหลวกลับไปไม่เป็นท่า เพราะหากพิจารณาเปรียบเทียบกันตามภาพที่เห็นแบบง่าย ๆ ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน ทั้งปริมาณและความกระตือรือร้นฝ่ายสนับสนุนก็มีมากกว่า ทั้งบรรยากาาศสีสันก็ต่างกันลิบลับ

แต่ถึงอย่างไรสื่อต่างประเทศก็รายงานออกมาให้เห็นทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี ในเรื่องจำนวนของมวลชนในต่างแดนดังกล่าว นาทีนี้อาจไม่ใช่เป็นจุดชี้ขาดสำคัญ เพราะถึงอย่างไรหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงแค่ “หลักร้อย” เรื่องจำนวนตัวเลขก็อาจมองว่าแล้วแต่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้รายงานฝ่ายที่ชอบก็อ้างว่าตัวเลขมาก ฝ่ายที่ไม่ชอบก็อาจอ้างว่าอีกฝ่ายจำนวนน้อย ก็ว่ากันไป แต่อย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณอื่น ๆ ตามมา

แต่ถึงอย่างไรในเรื่องของจำนวนมวลชนก็เป็นการลบล้างการ “สร้างภาพ” ต่อต้านที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทำนองว่าคราวนี้จะต้อง “จัดหนัก” ตามข่าวถึงกับมีนักวิชาการบางคนที่หลบหนีคดีไปอยู่ญี่ปุ่นเดินทางเข้าสหรัฐฯเพื่อภารกิจต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการเฉพาะกันเลยทีเดียว แต่เอาเข้าจริงภาพที่เห็นก็เพียงแค่ “หร๋อมแหร๋ม” จนไม่เกิดความรู้สึกใด ๆ เมื่อเทียบกับปริมาณของมวลชนฝ่ายสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ในเรื่องของมวลชนอาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นชี้ขาด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดผลต่อเนื่องอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะหากจำนวนของมวลชนที่สนับสนุนยังมีอยู่แบบต่อเนื่อง เพราะหากหลับตานึกภาพว่าการเดินทางไปสหประชาชาติคราวนี้เจอแต่ฝ่ายต่อต้านยกป้ายขับไล่อยู่ฝ่ายเดียวมันจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าระดับผู้นำคงเกิดความกระอักกระอ่วน

ในภาพของระดับผู้นำอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา อาจไม่เชิญไปพูดคุยกันโดยตรง แต่อย่างน้อยก็ไม่มีท่าทีต่อต้าน ในทางตรงกันข้าม กลับเห็นสัญญาณในเชิงบวก นั่นก็คือ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ก็เป็นช่วงที่ เกล็น เดวีส์ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยคนใหม่พอดี หลังจากลดระดับเหลือแค่อุปทูตมานานนับปีตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน สัญญาณบวกในระดับนานาชาติที่น่าสนใจ ก็คือ ไทยได้รับการโหวตเป็นเอกฉันท์ให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศ หรือที่เรียกว่า “กลุ่มจี 77” เป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี นับตั้งแต่ร่วมก่อตั้ง โดยทำหน้าที่ในปี 2559 นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจให้ไปปาฐกถาในที่ประชุมนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และอาเซียน ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสัญญาณบวกดังกล่าว ก็ทำให้ทั้งสหรัฐฯและประเทศตะวันตกหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อไทยในทางบวกมากขึ้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ “มีการประเมินใหม่” มองเห็นแล้วหากยังเดินหน้าสนับสนุนเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร แบบสุดลิ่มอยู่ต่อไปจาก “ผลประโยชน์ร่วมกัน” ในอนาคตอาจมีปัญหาแน่ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ภูมิภาคที่ต้องแข่งขันกับจีนและพันธมิตรรัสเซีย ทำให้เสียโอกาสมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้จะเริ่มเห็นท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เริ่มมีสัญญาณในทางบวกมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเหตุผลก็ไม่มีมากไปกว่าเรื่องผลประโยชน์ข้ามชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตยหรือเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้งตามที่ใช้เป็นข้ออ้างกันหรอก อย่างไรก็ดี นี่คือสถานการณ์ที่เห็นอยู่ในตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถยืนระยะมาได้จากความศรัทธาของประชาชนเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งศรัทธาที่ว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่าจะรักษาเอาไว้ได้คงเส้นคงวาแค่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น