เอเจนซีส์ - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงานอัปเดตล่าสุดในวันอังคาร (22 ก.ย.) ลดตัวเลขคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจในทวีปนี้ โดยมองว่าการชะลอตัวของจีนและอินเดียจะฉุดการเติบโตของทั้งภูมิภาค พร้อมกับเตือนธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ปรับนโยบายรับมือผลกระทบจากการที่ “เฟด” จะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้
รายงานของเอดีบีฉบับนี้เผยแพร่ออกมา ขณะที่ตลาดการเงินกำลังผันผวนหนักจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีน และการแก้เกมของเหล่าผู้นำในปักกิ่ง ซึ่งรวมถึงการประกาศลดค่าเงินหยวนแบบฉับพลันเมื่อเดือนที่แล้ว
ฉางจิน เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าวระหว่างการนำเสนอรายงานฉบับนี้ ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฮ่องกงเมื่อวันอังคาร (22) ว่า แนวโน้มการชะลอตัวของจีนและอินเดีย ประกอบกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของพวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า กำลังสร้างความกดดันต่อเศรษฐกิจเอเชียโดยรวม
ในรายงานแนวโน้มการพัฒนาของเอเชียฉบับล่าสุดนี้ เอดีบีคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเอเชียจะขยายตัว 5.8% ในปีนี้ และ 6% ในปีหน้า ต่ำลงมาเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ที่ 6.3% ทั้งสองปี
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ เอดีบีคาดหมายว่าจะอยู่ที่ 2.3% ในปี 2015 เทียบกับการคาดไว้ที่ 2.4% เมื่อเดือนมีนาคม ส่วนหนึ่งเนื่องจากแนวโน้มขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก สำหรับปี 2016 นั้น จะดีดกลับขึ้นไปที่ 3%
เว่ยเสริมว่า แนวโน้มโดยรวมของเอเชียยังถือว่าดี และภูมิภาคนี้ยังคงเป็นเฟืองจักรสำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตของทั่วโลก เพียงแต่เอเชียขณะนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินทุนไหลออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการชะลอตัวของจีน
รายงานของเอดีบีลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปีนี้ลงอยู่ที่ 6.8% จากเดิมที่คาดการณ์ 7.2% ทั้งนี้หากเอดีบีพยากรณ์ถูกต้อง ก็ถือเป็นอัตราเติบโตต่ำที่สุดของจีนนับจากปี 1990 หรือหนึ่งปีหลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในจัตุรัสเทียนอันเหมิน อันนำไปสู่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนจากทั่วโลก นอกจากนั้น ยังต่ำกว่าเป้าหมายอย่างเป็นทางการของปักกิ่งที่ 7%
ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของพวกประเทศพัฒนาแล้ว ก็เพิ่งลดคาดการณ์จีดีพีแดนมังกรลง 0.1% อยู่ที่ 6.7% ในปีนี้
กระนั้น เว่ยยืนยันว่า เศรษฐกิจจีนไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นพังครืน เนื่องจากการบริโภคยังเติบโตเข้มแข็ง ยอดค้าปลีกและการจ้างงานมีความยืดหยุ่นเหมาะสม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีสำทับว่า ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนไม่มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจ
รายงานของเอดีบียังระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนอย่างชัดเจน โดยคาดว่า จีดีพีของภูมิภาคนี้จะอยู่ที่ 4.4% ในปีนี้ ก่อนขยับขึ้นเป็น 4.9% ในปี 2016
ขณะเดียวกัน เจอร์เกน คอนราด หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี แถลงข่าวในปักกิ่งว่า การทบทวนจีดีพีของเอเชียล่าสุด ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ความล่าช้าในการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมฉุดให้ดีมานด์ในตลาดส่งออกลดลง
เอดีบียังลดการคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียปีปัจจุบันอยู่ที่ 7.4% จาก 7.8% โดยชี้ว่า เนื่องจากความล่าช้าในการปฏิรูปของรัฐบาลใหม่ และความซบเซาของดีมานด์จากภายนอก
นอกจากนั้น เอดีบีเรียกร้องให้ธนาคารกลางในเอเชียปรับนโยบายการเงินด้วยการค้นหาสมดุลระหว่างการฟื้นเสถียรภาพภาคการเงิน กับการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดบอกว่า จะมีขึ้นก่อนสิ้นปีนี้
รายงานยังแนะนำว่า มาตรการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและสถาบันการเงิน รวมทั้งการพัฒนาตลาดหุ้นกู้สกุลเงินท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนา อาจช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบการเงินและลดทอนความเสี่ยงต่อผู้ฝากเงิน
ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะผลักดันให้เงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากบรรดาเทรดเดอร์โยกเงินกลับไปลงทุนในอเมริกาที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า กดดันให้ธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อปกป้องค่าเงิน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องพยายามฟื้นการเติบโตภายในประเทศไปพร้อมกัน