เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC ได้ตัดสินใจประกาศลดค่ากลางของเงินหยวนรายวันลงมาถึง 1.9% จากวันก่อนหน้า ทำให้ค่ากลางลดลงจากระดับ 6.1162 หยวน มาอยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยการปรับลดค่ากลางต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 อีก 1.6% ส่งผลให้ค่ากลางของเงินหยวน 2 วันปรับตัวลงมาถึง 4% โดยที่ยังคงกำหนดกรอบให้หยวนเคลื่อนไหวได้ +/-2% จากค่ากลาง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดเป็นอย่างมาก และทำให้ค่าเงินหยวนที่มีการซื้อขายจริงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงกว่า 2.8% พร้อมทั้งฉุดค่าเงินเอเชียให้อ่อนค่าตาม รวมถึงส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและเอเชียเกิดความผันผวนอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้ว่าธนาคารกลางจะออกแถลงการณ์ว่าค่าเงินที่อ่อนค่าลงเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนกลไกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการคำนึงถึงราคาปิดในวันก่อนหน้า อุปสงค์และอุปทานของเงินหยวน ตลอดจนการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักในการคำนวณค่าอ้างอิง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูประบบการเงินของประเทศเพื่อให้หยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับเชื่อว่าจีนกำลังกลับไปพยุงภาคการส่งออกอีกครั้งหลังจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศยังไม่เห็นผลสำเร็จเท่าที่ควร
โดยตั้งแต่ต้นปีจีนพยายามอย่างหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย ลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งดำเนินโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับออกมาไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นยอดการส่งออกในเดือน ก.ค.ที่หดตัวถึง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (PMI) ที่ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปลายปี 2011 อยู่ที่ 47.8 จาก 49.4 ในเดือนก่อนหน้า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่ทางการจีนว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต 7% ในปีนี้ได้หรือไม่
ในขณะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินหยวนกลับอ่อนค่าลงน้อยกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 10 ส.ค. ก่อนจีนจะประกาศลดค่าเงิน ดัชนีค่าเงินเอเชียเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (Asia Dollar Index ที่จัดทำโดย Bloomberg กับ JP Morgan) อ่อนค่าลงกว่า 2.3% (นำโดยการอ่อนค่าของเงินริงกิตมาเลเซีย 11% รูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าลง 8.6% วอนเกาหลีใต้อ่อนค่าลงประมาณ 6.2%) ขณะที่ค่าเงินหยวนยังทรงตัว ส่งผลให้จีนเกิดการเสียเปรียบทางการแข่งขัน จึงดูเหมือนว่าความพยายามในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินของจีนจะเริ่มส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออก ดังนั้น การลดค่าเงินด้วยความหวังที่ว่าภาคการส่งออกจะกลับมาช่วยเศรษฐกิจอีกครั้งและให้หยวนเข้าใกล้ราคาตลาดมากขึ้นจึงเป็นทางเลือกในครั้งนี้ของจีน
อีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนการลดค่าเงินคงหนีไม่พ้นโอกาสที่หยวนจะได้เป็นส่วนหนึ่งในสกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ IMF (Special Drawing Rights; SDR) ซึ่ง IMF กำหนดเงื่อนไขว่าเงินสกุลนั้นๆ ต้องมีการใช้ในธุรกรรมการเงินอย่างแพร่หลายและเคลื่อนไหวอย่างเสรี ทางการจีนจึงพยายามผลักดันการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย และผ่อนปรนการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้หยวนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งน่าจะรวมถึงการปรับวิธีการกำหนดค่ากลางในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของจีนยังคงส่งผลลบต่อตลาดหุ้นจีนอีกด้วย โดยตลาดหุ้นของจีนปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 12 สิงหาคม ทั้งตลาด A Share ลงลด 1.6% และตลาด H Share ลดลง 2.2% ก่อนที่ทางการจีนจะออกมาประกาศว่าการปรับลดค่าเงินดังกล่าวเป็นมาตรการเพียงครั้งเดียว (One Time Adjustment) ซึ่งก็ช่วยทำให้ตลาดคลายความกังวลได้ในระยะสั้น แต่ในช่วงวันที่ 17-19 สิงหาคมตลาดก็กลับมาผันผวนหนักอีกครั้ง โดยตลาดหุ้น A Share ลดลงกว่า 6% ขณะที่ดัชนี H Share ปรับตัวลงมากว่า 4% เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมากังวลต่อแนวโน้มค่าเงินหยวน เนื่องจากยังคงไม่มีความชัดเจนว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปมากน้อยเพียงใด และทำให้นักลงทุนต่างพากันเทขายหุ้นจีน รวมถึงค่าเงินหยวนออกมา
ในระยะสั้น เชื่อว่าตลาดหุ้นจีนจะยังคงเกิดความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากความตื่นตระหนก และอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดที่แห่ขายตามกระแสกันไป (market sentiment) โดยเฉพาะในตลาดหุ้น A Share ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยเป็นสัดส่วนใหญ่ รวมถึงความกังวลที่ว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของจีน (เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย และยานยนต์ เป็นต้น) และอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศเอเชีย และยุโรป ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปยังจีนเป็นจำนวนมาก และทำให้ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความผันผวนตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในระยะยาว หากมาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น ความสำเร็จนี้น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสงครามค่าเงินครั้งนี้ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านต่างๆ ของจีนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทางการจีน สภาวะเงินทุนไหลออกที่จีนกำลังเผชิญ ภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องจับตามองในระยะต่อไปว่าทางเลือกนี้จะเยียวยาอาการป่วยเรื้อรังของจีนได้จริงหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นความผันผวนต่อไปในระยะสั้น ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในระยะนี้
คำเตือน
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2558 โดยนางสาวชญานุตม์ เหมือนเดช ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)