เหตุการณ์สำคัญสำหรับนักลงทุนทองคำในช่วงนี้ยังคงอยู่ที่เงื่อนเวลาของการที่ FED จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ6 ปี เรียกได้ว่าประธาน FED หรือสมาชิก FOMC จะไปปราศรัยที่ไหน นักลงทุนก็ต่างเงี่ยหูฟังเพื่อรอคำตอบจากปากของคณะกรรมการ FOMC ว่า ท้ายที่สุดแล้ว เวลาที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือเวลาไหน และเราก็มองกันไปล่วงหน้าแล้วว่า หาก FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วราคาทองคำต้องดำดิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็มีส่วนน้อยที่จะมองไปให้ไกลกว่านั้น เลยเกิดเป็นคำถามว่า หลัง FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วราคาทองคำจะไปในทิศทางไหนต่อ?
ก่อนที่จะไปตอบคำถามดังกล่าว ก็ต้องขอพูดถึงบทบาทของทองคำกันก่อนครับ แน่นอนว่าทองคำเป็นสิ่งมีค่า และส่วนใหญ่ก็จะถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งหนุนหลังสำคัญต่อค่าเงินของประเทศต่างๆ การที่ประเทศหนึ่งๆ จะพิมพ์เงินออกมาสู่ระบบนั้น สิ่งหนุนหลังเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือของสกุลเงินนั่นเอง(ยกเว้นสหรัฐฯ ที่สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ทันทีโดยที่ไม่มีอะไรหนุนหลัง เนื่องจากอาศัยบทบาทของการเป็นสื่อกลางในการซื้อขายระหว่างประเทศหนุนหลังแทนนั่นเอง) เมื่อเกิดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการปรับตัวลงของราคาทองคำจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ อุปสงค์และอุปทานของทองคำนั่นเอง เมื่อดูจากโครงสร้างแล้วจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก แม้อุปสงค์ต่อเครื่องประดับจะยังคงมีสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง แต่อุปสงค์สำหรับเรื่องการลงทุนนั้นก็มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอุปสงค์จากธนาคารที่เริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ จากเดิมที่ธนาคารกลางเคยเป็นผู้ขายหลัก แต่มาวันนี้กลับเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อ และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากบทบาทที่กล่าวมาข้างต้น ทองคำถือเป็นสิ่งหนุนหลังที่สำคัญของค่าเงิน บวกกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่แสดงถึงความปั่นป่วนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการทำ QE อย่างมโหฬารของ FED การงัดมาตรการดอกเบี้ยติดลบมาใช้ของ ECB วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซที่ยังแก้ไม่ตก และล่าสุดที่การแทรกแซงค่าเงินหยวนของธนาคารกลางจีน แสดงให้เห็นถึงความผันผวนอย่างหนักของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบบ Fiat Money หรือระบบเงินกระดาษที่ไม่มีค่าในตัวเอง (ต้องอาศัยสิ่งหนุนหลัง) นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญต่อความผันผวนของตลาดเงินที่จะมีเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนต้องหันไปหาสิ่งที่มีค่าในตัวเอง นั่นก็คือ ทองคำ และอาจทำให้ทองคำฟื้นตัวอีกครั้ง แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นอาจกินเวลา 3-5 ปีกันเลยทีเดียว เพราะต้องรอให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตนั้นมีสเถียรภาพเสียก่อน ดังนั้น เราอาจจะยังไม่เห็นทองคำฟื้นตัวพรวดพราดในช่วงสั้นๆ นี้
โดยสรุปแล้ว แม้จะถูกกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED แต่ในอนาคตข้างหน้าความปั่นป่วนระลอกใหม่ของตลาดเงินจะยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัวได้ต่อ แต่คงกินเวลาค่อนข้างนาน นักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรในช่วงนี้อาจยังไม่ใช่จุดที่ควรเข้าซื้อสะสม แต่หากต้องการลงทุนในทองคำเป็นระยะเวลานานๆ 3-5 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลงทุนในตอนนี้ครับ
กมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ และผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด