ผู้ว่าฯ ธปท. เชื่อหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อไทยอยู่ในวงจำกัด ชี้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเพียงพอชำระหนี้ต่างประเทศได้ พร้อมระบุแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 พุ่งเป้าให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 10 ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน แม้จะทำได้ยากหากวัดด้วยรายได้ประชากร เพราะการจะเป็นประเทศผู้มีรายได้สูงต้องมีรายได้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยผลกระทบต่อไทยอยู่ในวงจำกัด เพราะปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงถึง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติไม่มาก เพราะต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.ร้อยละ 8 นักลงทุนต่างชาติลงทุนหุ้นไทยร้อยละ 30 และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งและมีทุนสำรองมากพอที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่มีปัญหา
นายประสาร กล่าวด้วยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 นั้น เนื่องจากขณะนี้มีความไม่แน่นอนในตลาดการเงินมาก การดำเนินนโยบายการเงินจึงควรคำนึงถึงเสถียรภาพ จึงไม่อยากให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงินอีก และขณะนี้ทั้งอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทก็อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องต่อสกุลเงินในภูมิภาค เคลื่อนไหวระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือว่ามีเสถียรภาพดี และผันผวนน้อย
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน แม้อาจจะยาก เพราะหากวัดด้วยรายได้ประชากร การจะเป็นประเทศผู้มีรายได้สูงต้องมีรายได้เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ปัจจุบันคนไทยมีรายได้ 5,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้น ระยะห่างยากพอควรคงต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 5 ปีขึ้นไป แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหาผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีผลบวกระยะสั้นมากกว่า โดยจะเห็นผลประมาณต้นปีหน้า ส่วนจะมีผลต่อจีดีพีมากน้อยเท่าใดนั้นยังต้องประเมินต่อไป
ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยืดเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญออกไป ทำให้ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้นั้น มองว่า ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และคนไทยห่วงเรื่องความต่อเนื่องทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลต่างประเทศที่คุ้นเคยต่อการเมืองแบบมีผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้การเมืองประเทศไทยยังไม่ได้กลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติจึงยังไม่ได้ฟันธงเรื่องการตัดสินใจลงทุนในไทย จึงต้องถามคนไทยว่าเราอยากได้อะไร อยากได้การเมืองในลักษณะไหน ซึ่งต้องตกลงกติกากันให้ได้ก่อน
นายประสาร กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 เรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือต่อการส่งออกที่ขยายตัวลดลงด้วยการปรับโครงสร้างการส่งออก เน้นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการทำงานของรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา การทำงานของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมีปัญหาถูกแทรกแซงจากการเมือง และประสบภาวะขาดทุน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอนาคต