xs
xsm
sm
md
lg

เร่งปรับพฤติกรรมก่อนตายจากโรค NCDs เผยตายปีละกว่า 3 แสนคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เผยคนไทยตายจากโรคไม่ติดต่อมากที่สุด ปีละกว่า 3 แสนราย ชี้เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพไม่ดี เคลื่อนไหวน้อย กินเหล้า สูบบุหรี่ กินหวานมันเค็ม เร่งรณรงค์ปรับพฤติกรรม ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลง 25% ภายใน 10 ปี

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดมหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ NCD Forum 2015 “บูรณาการ สานพลัง ลดเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อน” ว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เนื่องจากวิถีชีวิตสะดวกสบายขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง สภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม จนเกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ไขมันผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หากยังดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดิม ก็จะเป็นโรคดังกล่าวข้างต้นตามมา ซึ่งแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ประมาณ 36 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับไทยพบว่าโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือ มะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และเบาหวาน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยมูลค่า 198,152 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้ประชาชาติ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรค NCDs สามารถป้องกันได้ แต่ต้องมีมาตรการที่ดี การพัฒนางานบริการสุขภาพทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เช่น จัดระบบบริการสุขภาพให้เข้าถึงได้ รณรงค์สื่อสารเตือนภัย การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การคัดกรองภาวะแทรกซ้อน และผลักดันให้มีนโยบายสาธารณะ

สธ. และเครือข่ายตั้งเป้าป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อภายในปี 2568 ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก อาทิ ลดอัตราตายลงให้ได้ร้อยละ 25 การบริโภคเค็มลดลงร้อยละ 30 การบริโภคยาสูบลดลงร้อยละ 30 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 ภาวะอ้วนและเบาหวานไม่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นครอบคลุมร้อยละ 80 และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคไม่ติดต่อ ต้องได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามความเสี่ยง โดยมีทีมหมอครอบครัวเข้าไปดูแลถึงบ้านตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมแบบใกล้บ้านใกล้ใจ” รมว.สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น