xs
xsm
sm
md
lg

TPP กับข้อวิตกของภาคปศุสัตว์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้ว่าไทยจะยังอยู่นอกกลุ่มทีพีพี (TPP) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กับ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้บางฝ่ายกังวลว่า ไทยจะสูญเสียมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยมีความพยายามในการขยายการค้ามาตลอด

ในมุมของสินค้าอุตสาหกรรมเราอาจจะเล็งผลบวก แต่มุมของสินค้าเกษตรยังมีการกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยว่าจะได้ หรือเสียประโยชน์อย่างไรต่อการเข้ารวมกลุ่มการค้าเสรีนี้ ซึ่งภาครัฐต้องไม่ลืมว่ายังมีภาคส่วนที่ขาดความสามารถในการแข่งขันที่เห็นได้ชัดของไทย คือ “ภาคปศุสัตว์” ที่อาจต้อง “เสียที” ให้แก่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่พยายามผลักดันสินค้าปศุสัตว์ราคาถูกของตนเองเข้ามาในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย

ตัวอย่างที่เป็นบทเรียนอย่างเด่นชัด คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ที่มีประสบการณ์ตรงมาแล้วจากการดัมป์ราคาสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเวียดนาม เมื่อปี 2556 เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากต้องล้มละลายจากการเปิดนำเข้าชิ้นส่วนที่เหลือทิ้งไม่เป็นที่ต้องการบริโภคของคนอเมริกัน ถูกส่งเข้าไปขายในราคาต่ำกว่าราคาที่ผลิตได้ในเวียดนาม เกษตรกรในประเทศไม่สามารถสู้ราคาได้จำต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

แม้วันนี้เวียดนามจะตกลงร่วมเป็นสมาชิกแล้วก็ตาม แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ผ่านมาทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเวียดนาม นายวู ฮุย ฮวง มีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศสมาชิก TPP ต้องปรับลดภาษีนำเข้าเนื้อสัตว์ลง 15-40%

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสัตว์สูงเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ ที่ต้องนำเข้าถึง 11 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 70% ของอาหารสัตว์ที่ใช้ทั้งหมด และมีมูลค่ามากถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน การผลิตหมูในเวียดนามยังเป็นฟาร์มขนาดเล็ก และประสิทธิภาพการผลิตที่ไม่ดีนักทำให้ต้นทุนสูง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่หมูเวียดนามจะสามารถแข่งขันกับหมูนำเข้าจากประเทศสมาชิก TPP อย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย อีกทั้งปัจจุบันนี้ก็มีสินค้าเนื้อสัตว์จากทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นำเข้าวางขายอยู่ทั่วเวียดนาม และนับวันจะได้รับความนิยมจากชาวเวียดนามมากขึ้น เพราะมีมาตรฐานการผลิตสูง ขณะที่ราคาสินค้าต่ำกว่าผู้ผลิตท้องถิ่น เรื่องนี้จึงกลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญของเกษตรกรเวียดนาม

สำหรับภาคปศุสัตว์ไทยก็มีความวิตกกังวลไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายสุรชัย สุทธิธรรม แสดงความเป็นห่วงว่า การล้มละลายของเกษตรกรเวียดนามจากการเปิดนำเข้าหมูสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก จึงไม่อยากให้เกษตรกรไทยต้องซ้ำรอยหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการทำลายอุตสาหกรรมหมูของไทยทั้งระบบ

“สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ มีความพยายามในการส่งออกเนื้อหมูและเศษเหลือจากการบริโภค ทั้งเครื่องใน หัว ขา ที่มีราคาถูกเข้ามาขายในไทย โดยใช้มาตรการทางการค้ามากดดัน แต่ผู้เลี้ยงทุกคนไม่ยอมให้หมูสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรี เข้ามาขายปะปนกับหมูไทยที่ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ที่สำคัญเกษตรกรไทยก็ผลิตหมูได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ไม่ขาดแคลน สิ่งที่เราควรทำคือ การผลักดันการส่งออกเนื้อหมู แทนการนำเข้าเนื้อหมู ไมว่าจากสหรัฐฯ หรือประเทศใดๆ ก็ตาม” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว

นายสุรชัย บอกอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าภาครัฐต้องศึกษาอย่างละเอียด ไม่ควรผลีผลามตัดสินใจเข้าร่วมอยู่ในข้อตกลง TPP และมองว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในสิ้นปีนี้แล้ว ไทยควรเดินหน้า ASEAN+6 หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) คือ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งจำนวนประชากรในกลุ่มนี้มีมากกว่า 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน GDP มากกว่า 29% ของโลก

“การรวมกลุ่ม RCEP เป็นอนาคตของไทย และประเทศในภูมิภาคที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน การทำการค้า ฯลฯ ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ ขณะเดียวกัน ประชากรในกลุ่มนี้ก็ยังมีความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์เป็นแนวหน้าในภูมิภาคอยู่แล้ว” นายสุรชัย ย้ำ

ทางด้าน นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เป็นห่วงว่า สหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการเลี้ยงไก่ต่ำกว่าไทย เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งถั่วเหลือง และข้าวโพดมีราคาถูกกว่า จะผลักดันเนื้อไก่ราคาถูกเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา

“หากไทยเข้าร่วมกลุ่ม TPP เชื่อว่าสินค้าไก่ของสหรัฐฯ จะทะลักเข้ามาในไทย ทำให้สินค้าล้นตลาด เกษตรกรก็ต้องขาดทุน และสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยทั้งหมด จึงขอฝากภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ” นายวีระพงษ์ กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ อียู และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 80-90 ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งประเทศ

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ในปี 2558 ประมาณการว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อ และผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 650,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 85,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 ตลาดเกาหลีใต้ จะอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดได้ ซึ่งจะช่วยให้ไทยส่งไก่สดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันส่งได้เฉพาะไก่ปรุงสุกปริมาณ 15,000 ตันต่อปี หากเกาหลีใต้เปิดตลาดอย่างเต็มที่ คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกไก่ไปได้มากกว่า 40,000 ตันต่อปี

“สำหรับสินค้าไก่ หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP จะมีผลกระทบต่ออุตสากรรมไก่อย่างแน่นอน เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่รายใหญ่ของโลก หากสหรัฐฯ ส่งสินค้าเนื้อไก่ที่ไม่เป็นที่นิยมบริโภค เช่น ชิ้นส่วนน่อง ซึ่งมีราคาถูกเข้ามาขายดัมป์ตลาดในไทย ก็จะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างข้าวโพด และถั่วเหลืองด้วย” นายคึกฤทธิ์ กล่าวย้ำ

ความจริงแล้วไทยมีความสามารถในการส่งเนื้อไก่ที่ได้มาตรฐานเข้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งยุโรป และญี่ปุ่น มานานกว่า 40 ปี แต่สำหรับตลาดสหรัฐฯ นั้นมีการกำหนดมาตรการที่ยุ่งยาก จากประเทศผู้ส่งออกอย่างไทย ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปได้ ในทางกลับกันที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็ยังพยายามที่จะส่งไก่เข้ามาบุกตลาดในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย

ไม่ต่างกับการเข้าเป็นสมาชิก TPP ที่สหรัฐฯ ก็จะมีความพยายามส่งออกสินค้าเกษตรไปในกลุ่มประเทศสมาชิก แต่กลับไม่ยอมให้ประเทศสมาชิกส่งสินค้าเกษตรเข้ามายังสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกษตรกรของตนเอง โดยอ้างเหตุผลอื่น เช่น มาตรฐานการผลิตที่ต่ำกว่า รวมทั้งมีการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องว่าจะยินยอมให้มีการนำเข้าหรือไม่ ข้อนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ถึงแม้อนาคตไทยจะเข้าร่วมขบวน TPP ก็จะเป็นผู้เปิดตลาดนำเข้าแต่ฝ่ายเดียวไม่สามารถส่งออกได้ จากมาตรการกีดกันของสหรัฐฯ ดังกล่าวเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น