“สมคิด” นัดถก “พาณิชย์” อีกรอบ 5 พ.ย.นี้ ติดตามงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ แผนดูแลราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหาการส่งออก “สุวิทย์” เผยงานทุกอย่างคืบหน้า เตรียมเก็บรายละเอียดก่อนชง พกค.ที่มีนายกฯ เป็นประธานพิจารณายุทธศาสตร์ส่งออก เน้นบูมการค้าบริการ ขอท่าทีร่วม TPP และประเมินประโยชน์ที่ไทยได้จาก RCEP มั่นใจปีหน้าส่งออกพลิกกลับมาบวกแน่
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 5 พ.ย. 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง เพื่อติดตามงานและเร่งรัดงานเร่งด่วนที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของประเทศ แผนการดูแลราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหาการส่งออก รวมถึงการกำหนดท่าทีของไทยต่อการเข้าร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และความคืบหน้าในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้มีความคืบหน้าในส่วนแผนการช่วยเหลือและขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) การช่วยเหลือและขับเคลื่อนตลาดกลาง ตลาดชุมชน สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ขณะที่การดูแลราคาสินค้าเกษตรมีแผนดูแลราคาสินค้าข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และมีแผนการจัดหาตลาดส่งออกรองรับผลผลิตแล้ว
ส่วนการแก้ไขปัญหาการส่งออก ที่ผ่านมาได้นำภาคเอกชนรายกลุ่มสินค้าเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี หรือ PM Meet CEO คือ กลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และต้นเดือนพ.ย.นี้มีกำหนดให้กลุ่มอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ และธุรกิจดูแลสุขภาพ มาหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกและเสนอแนะแนวทางในการผลักดันการส่งออก ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 9 ธ.ค. 2558 ต่อไป
นายสุวิทย์กล่าวว่า ในการประชุม พกค.จะมีการพิจารณายุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยใหม่ จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การผลักดันการส่งออกสินค้า จะต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกการค้าบริการให้ได้มากขึ้น เพราะจะปล่อยให้เศรษฐกิจพึ่งพาแต่การส่งออกสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวจะมีความเสี่ยงเกินไป ซึ่งต้องกำหนดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าสินค้าบริการใดของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปต่างประเทศ และต้องพัฒนาไปถึงการออกไปลงทุนด้วย
นอกจากนี้ พกค.จะมีการพิจารณาการเข้าร่วมข้อตกลง TPP โดยต้องประเมินว่าในการเข้าร่วมไทยจะได้หรือเสียมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นข้อตกลงที่มีส่วนสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ส่วน RCEP ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ก็จะมีการประเมินว่าไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทย
นายสุวิทย์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในปี 2558 ยอมรับว่าตลาดส่งออกมีปัญหาจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนผลักดันการส่งออกใหม่ ทั้งการจัดทัพทูตพาณิชย์ที่จะดึงคนเก่งมาทำงานบุกเจาะตลาดอาเซียน และการมุ่งเจาะตลาดเป็นรายเมืองที่จะพุ่งเป้าไปยัง 50 เมืองสำคัญของโลก โดยคาดว่าหากแผนผลักดันการส่งออกเริ่มขับเคลื่อนได้ จะช่วยให้ยอดส่งออกของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และน่าจะสูงกว่าอัตราการขยายตัวของการค้าโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ที่ 2.4%