“บิ๊กตู่” สั่งพาณิชย์ ศึกษาเพิ่ม 2 ข้อตกลง ทั้ง TPP ที่สหรัฐอมเริกา เป็นหัวหอก รวมทั้งข้อตกลง RCEP ที่มีจีนเป็นแกนนำ นายกฯ ย้ำยังไม่ตัดสินใจ ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ เหตุยังมีเวลาพิจารณาถึงปี 2560 รับเอกชนส่วนใหญ่ ยอมรับมีประโยชน์ แต่หากเป็นสินค้าอ่อนไหว อาจได้รับผลกระทบ
วันนี้ (22 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงความคืบหน้าในการศึกษาผลดี - ผลเสียของการจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก หรือ TPP
“ยังไม่ตัดสินใจว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ เพราะยังเวลาพิจารณาถึงปี 2560 แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ซึ่ง 12 ประเทศที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น ก็ยังมีบางประเด็นที่สงวนเอาไว้ ไม่ได้ทำตามที่ TPP เสนอไว้ทั้งหมด”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ให้แนวทางในการพิจารณาในประเด็นนี้ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรมจะต้องมาร่วมพิจารณาด้วย โดยให้คำนึงถึงผลดีและผลเสียทั้งหมด และคำนึงถึงข้อตกลงทางการค้าในด้านต่าง ๆ ทั้งการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และ องค์การการค้าโลก (WTO)
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. หารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (TPP) หลังจากกลุ่มสมาชิก 12 ประเทศสามารถบรรลุร่วมกัน และยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมาชิก TPP 12 ประเทศรวมกัน 28.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม
กระทรวงพาณิชย์ จึงเร่งเดินหน้าศึกษาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง เบื้องต้นจะมีผลในทางจิตวิทยาต่อการส่งออกสินค้าของไทยและอาจได้รับต่อสินค้าไทยในบางรายการ จากการได้รับสิทธิ์ลดภาษี ขณะที่กลุ่มสมาชิก TPP 12 ประเทศนั้นไทยได้มีข้อตกลงกับประเทศสมาชิกดังกล่าวถึง 9 ประเทศ มีเพียงสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก ที่ไทยยังไม่ได้มีข้อตกลง FTA และเมื่อจีนเห็นว่า TPP บรรลุข้อตกลงได้แล้ว จึงต้องการเร่งรัดการร่วมกลุ่มของ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้บรรลุข้อตกลงด้วยเช่นกัน คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 1 - 2 ปี ในการเจรจาร่วมกัน
ขณะที่ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หรือ อาเซียน +6 (RCEP) แม้จะมีจีดีพีรวมกันน้อยกว่า TPP แต่ประชาชนหรือลูกค้ามีมากกว่า TPP และในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้กำหนดมีการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมหารือเกี่ยวกับกรอบการลดภาษีร่วมกันของกลุ่ม RCEP หลังจากนั้นจะนัดประชุมอีกครั้งในเดือนมกราคมเพื่อสรุปการลดภาษีระหว่างรัฐบาลไทย จึงต้องศึกษาผลดีผลเสียต่อการนำเข้า ส่งออก สินค้าไทย เพื่อศึกษาอย่างรอบคอบ
พล.ต.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเข้าเป็นสมาชิก TPP จะไม่ให้ใช้แรงงานผิดกฎหมายในด้านประมง และได้หารือกับภาคเอกชนในวันที่ 9 ต.ค. กับกลุ่ม กกร. โดยเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่ามีประโยชน์ แต่หากเป็นสินค้าอ่อนไหว อาจได้รับผลกระทบ ที่ประชุมจึงให้ใช้เวลาศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะอาจเข้าร่วมสมาชิกใดหรือไม่ก็ได้ เพราะยังมีเวลาอีกนาน.