- จะขยายตัวสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วสองเท่าตัว ภายในปี 2030
- มีการคาดการณ์ ว่า E-Waste ขยะ หรือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกน่าจะมีปริมาณมากถึง 40 ล้านตันต่อปี โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดซากผลิตภัณฑ์ฯ มากที่สุดถึง 8-10 ล้านตันต่อปี
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าแต่ในอนาคตอันใกล้ประเทศกำลังพัฒนาจะก่อให้เกิดซากผลิตภัณฑ์ฯ ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ คาดการณ์ว่า ภายในปีค.ศ. 2018 ประเทศกำลังพัฒนาจะทิ้งซากคอมพิวเตอร์มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก และภายในปีค.ศ.2030 ปริมาณซากคอมพิวเตอร์ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีมากกว่าถึงสองเท่า คือ 400 ล้านเครื่องเทียบกับ 200 ล้านเครื่องในประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ สารอันตรายและโลหะหนักหลากหลายชนิดที่อยู่ในชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ อาทิ ตะกั่วในจอโทรทัศน์และจอมอนิเตอร์ ปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์ สารทนไฟจากโบรมีน แคดเมียมและลิเทียมในแบตเตอรี่ ซากผลิตภัณฑ์ฯ จึงจัดเป็นขยะพิษหรือของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทหนึ่งที่ต้องจัดการอย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันซากผลิตภัณฑ์ฯ ก็มีองค์ประกอบที่เป็นวัสดุมีค่าหลายชนิดที่ควรนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก พลาสติก อะลูมิเนียม ทองแดง รวมถึงโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินัม พาลาเดียม โรเดียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ซากผลิตภัณฑ์ฯในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะถูกจัดการโดยกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า ซึ่งแกะ ทุบ ถอดแยกชิ้นส่วน โดยไม่มีการควบคุมหรือป้องกันมลพิษ มีการเผาสายไฟ การตัดเศษเหล็ก การทิ้งเศษแก้วที่ปนเปื้อนตะกั่วตามแหล่งฝังกลบขยะทั่วไปหรือตามที่รกร้าง และการใช้สารอันตรายในการสกัดแยกโลหะมีค่า เช่น การใช้ไซยาไนด์สกัดทองออกจากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น พื้นที่ที่มีการคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ จึงมีการสะสมของโลหะหนักและสารอันตรายต่างๆ อาทิ ตะกั่ว นิกเกิล แคดเมียม ตลอดจนสารกลุ่ม PAHs, PBDDs, PBDEs สารไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในสภาพแวดล้อมทั้งแหล่งน้ำและแหล่งดิน