อีไอซีวิเคราะห์พฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เผยธุรกิจต้องคำนึงถึงความต้องการ 3 ด้านหลักคือ ต้องการมีสุขภาพดี - ต้องการมีสังคม - ต้องการมีการเงินที่มั่นคงและเพียงพอ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ชี้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก และยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น
ประเทศไทยถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุค่อนข้างเร็วซึ่งเป็นความท้าทายที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและตัวผู้สูงอายุเองต้องเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 10% ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของประชากร ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า
แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือไทยกำลังแก่ก่อนรวย เนื่องจากหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว ระดับรายได้ของไทยยังต่ำมาก ขณะที่ไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการรับมือกับผลกระทบในด้านต่างๆ
อีไอซีจึงศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมและยังได้นำเสนอโอกาสและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคของสังคมผู้สูงอายุ
การลดลงของกำลังแรงงานเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เห็นชัดที่สุดและจะส่งผลต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน โดยคาดว่าไทยจะต้องเผชิญกับการลดลงของกำลังแรงงานเป็นครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยใน 5 ปีข้างหน้า ลดลงเหลือเพียงราว 3.0% ต่อปีหรืออาจต่ำกว่านั้น
แต่ยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นตัวช่วยพยุงศักยภาพการผลิตของไทยไว้ไม่ให้ลดลงมากไปกว่านี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ภาคธุรกิจอาจจะต้องหันไปจ้างผู้สูงอายุมากขึ้นและหาแนวทางเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ซึ่งหากต้องการรักษาอัตราเติบโตของผลผลิตโดยรวมไม่ให้ลดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า แรงงานไทยจะต้องเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตให้ได้อย่างน้อย 2 เท่าเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่หายไป
ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงจะส่งผลต่อเนื่องให้ผลตอบแทนเงินออมของประชาชนลดลง และมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากภาครัฐมากขึ้น ประชาชนที่จะเข้าสู่วัยเกษียณในอนาคตส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความไม่เพียงพอของเงินออมสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ อีกทั้งส่วนใหญ่มีบุตรน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้แหล่งรายได้หลังเกษียณหรือเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วนั้นลดลงด้วย เพราะปัจจุบันเงินจากบุตรหลานคิดเป็นเกือบ 40 ของแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีการวางแผนการออมหรือวางแผนช้าเกินไปมีแนวโน้มต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐมากขึ้นจนอาจส่งผลให้ต้องกลายเป็นภาระการคลังเพิ่มขึ้นและเบียดเบียนงบประมาณของภาครัฐที่ควรจัดสรรไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น การใช้จ่ายลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นรากฐานต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับภาคธุรกิจ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุจะกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญ โดยสัดส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีมูลค่าราว 1 ใน 4 ของการใช้จ่ายของประชากรทั้งประเทศและมีความต้องการที่แตกต่างออกไป
อีไอซีได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในอนาคตทั้งในเชิงพฤติกรรมและการใช้ชีวิต พบว่าการที่ธุรกิจจะสามารถเข้าถึงตลาดผู้สูงอายุได้ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุใน 3 ด้านหลักคือ (1) ความต้องการมีสุขภาพดี (2) ความต้องการมีสังคม และ (3) ความต้องการมีการเงินที่มั่นคงและเพียงพอ
ขณะเดียวกันธุรกิจยังต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในอนาคตควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น และอาจจะยังต้องทำงานต่อในวัยหลังเกษียณ เป็นต้น
ภาคธุรกิจจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในมุมมองเหล่านี้ของกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต
กลยุทธ์การปรับตัวและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จึงไม่ได้จำกัดแต่เพียงแค่ธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพเท่านั้น แต่โอกาสทางธุรกิจยังสามารถเกิดขึ้นหรือต่อยอดจากการมองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในสังคมของผู้สูงอายุ เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ผู้สูงอายุจะต้องอยู่คนเดียวมากขึ้นในขณะที่ยังมีความต้องการมีสังคมพบปะกับเพื่อนฝูง ทำให้เกิดบริการรับส่งแบบ door-to-door ในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งในสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันได้
ความสามารถในการยอมรับและเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้นเมื่อเชื่อมโยงกับความต้องการมีสุขภาพดีของผู้สูงอายุ จะช่วยสนับสนุนให้บริการวางแผนโภชนาการและส่งอาหารโดยเลือกรายการจากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องออกแบบที่อยู่อาศัยให้มีฟังก์ชั่นรองรับการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุ และเพิ่มเติมเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
สินค้าและบริการทางการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการความมั่นคงทางการเงินของกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะหลังวัยเกษียณอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ดังเช่นการให้บริการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุที่ผู้สูงอายุสามารถเลือกวางแผนตามไลฟ์สไตล์ที่หวัง เช่น การเลือกจังหวัดที่จะอาศัยอยู่ในวัยสูงอายุ ขนาดของบ้าน กำหนดค่าอาหารในแต่ละเดือน เป็นต้น หรือการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น กรมธรรม์แบบบำนาญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้สม่ำเสมอในยามเกษียณ ซึ่งน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และได้รับความนิยมมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ในการเตรียมการและปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังกล่าวนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจควรจะเริ่มต้นให้เร็วเพราะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนอาจจะทำให้หลายฝ่ายไม่ทันได้เตรียมพร้อมและกลายเป็นช้าเกินไปที่จะปรับตัว