xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมถึงต้องลงทุนในเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย ศรชัย สุเนต์ตา
รองกรรมการผู้อำนวยการ
และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
กลุ่มจัดการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนได้ให้ความสนใจลงทุนในเศรษฐกิจเอเชียมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศในเอเชียกลับขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้ความสำคัญของเศรษฐกิจเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เรามาดูตัวเลขกันนะครับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเอเชียเติบโตเฉลี่ย 8% เมื่อเทียบกับอเมริกา และยุโรป ที่ขยายตัวเพียง 2% และ 1% ในขณะที่สัดส่วนของเศรษฐกิจเอเชียยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2000 หรือ 15 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจเอเชียมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลก แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจเอเชียกลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนที่หดตัวลงจาก 57% เป็น 43% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายประเทศจะเห็นว่าประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งหากอัตราการขยายตัวสูงเช่นนี้คาดว่าในปี 2025 ประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจแซงหน้าอเมริกาได้ไม่ยากเลยครับ

หากพิจารณาแนวโน้มการขยายตัวของประเทศในเอเชียในอนาคต จะเห็นว่าเศรษฐกิจเอเชียก็ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วจากหลายๆ ปัจจัย เช่น เรื่องของความได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากร จำนวนประชากรในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นำมาสู่การขยายตัวของประชากรวัยทำงานที่สูงที่สุดของโลก คิดเป็น 9% ในอีก 15 ปีข้างหน้

ในขณะที่ประชากรวัยทำงานของอเมริกาขยายตัวเพียง 3% และยุโรปหดตัวลงถึง -3% มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 อินเดียจะครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากร 1,600 ล้านคน ตามด้วยจีน 1,300 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและความมั่งคั่ง มีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเอเชียจะมีจำนวนครัวเรือนของกลุ่นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 150 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นมาก นำมาสู่ความมั่งคั่ง (Wealth) และกำลังซื้อ (Purchasing Power) ที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยต่อไปคือ การขยายตัวของภาวะสังคมเมือง (Urbanization) โดยในปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าคาดว่าคนเอเชียจะอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นประมาณ 50-70% เทียบกับปี 2010 ที่คนเอเชียอาศัยอยู่ในสังคมเมืองเพียง 25-50% ของประชากรทั้งหมด

และต่อไปคือเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศในเอเชียยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพื่อการรองรับการปรับตัวเข้าสู่สังคมเมืองในอนาคต คาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของโลกมูลค่าสูงถึง 78 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 8 เท่าของ GDP ประเทศจีน นอกจากนี้ เอเชียมีปริมาณการออมเงินของคนเอเชียเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากวินัยในการออมเงินถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 10 ปีปริมาณเงินออมของคนเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านดอลล่าร์ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าเป็น 6.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนักลงทุนจะย้ายเงินออมไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีขึ้นภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาชาวจีนได้มีการเปิดบัญชีหุ้นมากขึ้นถึง 10 เท่า และปัจจัยสุดท้าย คือ การให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี ชาวเอเชียมักส่งบุตรหลานไปศึกษายังต่างประเทศ คิดเป็น 55% ของปริมาณนักเรียนทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ส่งบุตรหลานไปศึกษามากที่สุด คือ อเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ตามลำดับ นอกจากนี้ ในยุคสมัย Social Media พบว่าคนเอเชียมีการใช้ Digital interface และ Internet Banking มากขึ้น โดยมีจำนวนคนเอเชียใช้บริการ Internet ประมาณ 1,230 ล้านคน ขยายตัวถึง 56% จาก 780 ล้านคน ซึ่งนำมาสู่โอกาสและปริมาณการค้าบนโลกออนไลน์ที่สูงขึ้น

จากปัจจัยต่างๆ พอจะเห็นนะครับว่าเศรษฐกิจเอเชียยังคงมีศักยภาพในการขยายตัวได้สูงกว่าหลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งหากประเมินจากระดับการขยายตัวกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงปี 2015-2019 พบว่า เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 6% ในขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% และ 2% ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนยังคงให้ความสนใจเข้าลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีหลายๆ บลจ.ได้จัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นประเทศเอเชีย ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์เองก็ได้นำเสนอกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียหลากหลายประเทศด้วยเช่นกัน เช่น SCBNK225, SCBCEH, SCBCHA, SCBINDIA และ SCBAEM

จากข้อมูลข้างต้นคงจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนหลายๆ ท่านนะครับ แต่อย่างไรก็ตามควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น