บลจ.ไทยพาณิชย์เดินหน้ารุกธุรกิจปี 58 ตั้งเป้า AUM เติบโต 15% เน้นสร้างผลตอบแทนกองทุน พร้อมรักษาการเติบโตกองทุนส่วนบุคคลและกองสำรองเลี้ยงชีพ เล็งออกกองทุนลุยตลาดอินเดียรับจังหวะเศรษฐกิจเติบโต
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2558 ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโต 15% มีนโยบายเชิงรุกในทุกธุรกิจเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในฐานะผู้นำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมาที่ได้วางกรอบการดำเนินงานเน้นการสร้างผลงานกองทุนให้มีผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกองทุนประเภทตราสารทุน
โดยในปีนี้จะตอบโจทย์โอกาสการลงทุนของลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยการลงทุนในต่างประเทศจะเน้นสินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ กองที่มีการลงทุนแบบ Thematic และกองดัชนี ซึ่งการออกขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุนในขณะนั้นๆ ส่วนการลงทุนในประเทศนั้นจะมีกองทุนประเภท Trigger Fund ที่ออกตามจังหวะเวลาเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมในระยะเวลาที่ไม่นานนัก รวมถึงมีการออกกองทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากกองทุนกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานที่มีอยู่
ขณะที่ส่วนธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทฯ มีเป้าหมายรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ตั้งเป้าเติบโตไม่น้อยกว่า 15-20% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า และยังคงให้ความสำคัญต่อลูกค้าในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทประกัน รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสถาบันการศึกษา ซึ่งบริษัทได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างดีตลอดมา
นอกจากนี้มีแผนรุกธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลโดยการทำงานร่วมกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ เช่น กลุ่มลูกค้า SCB Private Banking และกลุ่มลูกค้า First Privilege Banking ของธนาคารที่ต้องการทางเลือกในการลงทุน และการจัดสรรเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมืออาชีพ ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยจะเน้นการให้ความรู้แก่สมาชิกในเรื่องการวางแผนการลงทุน การให้ความรู้แก่นายจ้างและสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในเรื่องการทำ Employee’s choice มากขึ้น
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน กลุ่มการลงทุนต่างประเทศและกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในต่างประเทศว่า จากภาวะราคาน้ำมันที่ลดลงนั้นเป็นปัจจัยบวกให้ประเทศอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในเอเชียและประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงได้รับประเโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น ซึ่งภาวะนี้จะเป็นไปมากกว่า 1 ปี กำไรของบริษัทต่างๆ เหล่านี้เติบโตไปในระยะ 3 ปี จากต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่จะมีการลงทุนเพิ่ม
ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับประโยชน์ ส่วนประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันจะมีเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลง โดยที่ผ่านมาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากการที่ประเทศจีนที่เป็นประเทศบริโภคหลักมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจลดลง แต่ก็ยังมีความต้องการอยู่เพราะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง
สำหรับในปีนี้ มองไปที่การลงทุนในประเทศอินเดีย เนื่องจากอินเดียยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดี รัฐบาลมีการลงทุนจำนวนมาก และในอินเดียมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ดี มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูง และปัจจัยบวกในเรื่องความมั่นคงทางการเงิน และแรงงานในประเทศที่มีคุณภาพ
ดังนั้น ในปีนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์จะออกกองทุนที่ไปลงทุนในประเทศอินเดีย เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตที่สูง นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยุโรป และจีนที่มีความน่าสนใจจากการดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ย และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอัดฉีดสภาพคล่องของยุโรปที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะทำให้สภาพคล่องทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงสุดในช่วงปลายปีหน้า เม็ดเงินใหม่ๆ จะทยอยเข้าสู่ตลาดทุนโลกไปทั่วทุกแห่ง หากเข้ามาในเอเชียเป้าหมายแรกจะยังคงเป็นประเทศจีนก่อน
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะเริ่มได้รับอานิสงส์เพราะจะเห็นความชัดเจนทั้งการลงทุนและการเมืองในช่วงครึ่งหลังของปี และเชื่อว่าจะได้รับแรงตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยมองว่าการลงทุนในหุ้นไทยต้องเน้นคัดเลือกเป็นรายบริษัทเพราะราคาหลักทรัพย์ได้มีการปรับตัวต่อเนื่องขึ้นมามากในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากสภาพคล่องที่ล้นในตลาดโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวดัชนีหลักทรัพย์อาจมีการปรับตัวไม่มากนัก