xs
xsm
sm
md
lg

ไพรเวทฟันด์-กองสำรองเลี้ยงชีพแข่งดุ บลจ.ตั้งเป้ารักษามาร์เก็ตแชร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตสาหกรรมกองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแข่งดุ บลจ.กสิกรไทยตั้งเป้าปี 2558 รักษามาร์เก็ตแชร์ตลาดกองทุนสำรองฯไว้ที่ 1 ตามเดิมพร้อมเดินหน้าดึงลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลเพิ่มเติม ขณะที่บลจ.ไทยพาณิชย์ เดินหน้าธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเต็มสูบใช้ SCB FIRST Privilege Banking เพิ่มฐานลูกค้า

นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2558 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารของ บลจ.กสิกรไทย น่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในอันดับ 1 เอาไว้ได้ แม้ว่า จะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 คาดว่า จะมีสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 17%

“เราน่าจะรักษาอันดับ 1 ต่อเนื่องไปได้ในปี 2558 แต่สินทรัพย์สุทธิคงไม่โตไปมากกว่านี้ เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจได้จัดตั้งไปหมดแล้ว ขณะที่กองทุนที่ครบระยะเวลาสัญญาจ้างบริหารจะอยู่ในช่วงปลายปี 2558 เพราะฉะนั้นต้องไปลุ้นกันในช่วงปลายปีอีกที”

ในส่วนของกองทุนส่วนบุคคลเราคาดว่า ในปี 2558 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% จากสิ้นปี 2557 ที่มีสินทรัพย์สุทธิประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 15% ห่างจากอันดับ 1 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

“ปี 2558 จะยังเน้นลูกค้าสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐขนาดกลาง-เล็ก รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลไปเกือบหมดแล้ว”  

นายเกษตร  กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย มีลูกค้าที่เป็นสถาบันการศึกษา รวม 15 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน รวมทั้งสำนักอธิการบดีมหาวิทยาลัย  โดยกองทุนส่วนบุคคลของสถาบันการศึกษามีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันหลายพันล้านบาท โดยเฉลี่ยกองทุนละ 300-500 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีโรงเรียนเอกชนประมาณ 2-3 แห่ง แต่จำนวนเงินไม่มากเท่าไร

นายพจน์ หะริณสุต รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจลูกค้าบุคคลและสถาบัน บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า แผนงานในส่วนธุรกิจลูกค้าบุคคลและสถาบันนั้นเรายังคงเน้นการหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฐานลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ เช่นกลุ่มลูกค้า SCB FIRST Privilege Banking โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีฝากเริ่ม เงินลงทุน และประกัน ต้นตั้งแต่ 10-49 ล้านบาท ซึ่งเรามีแผนที่จะสร้างทีมงานเน้นให้ความรู้ด้านการลงทุนกับลูกค้าโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาเราสร้างทีมงานมาเสริมแล้วประมาณ 10-20 คน

ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเน้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อยโดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมตลาดเงินใน รวมถึงการฝากเงิน ขณะที่กองทุนรวมหุ้นและกองทุนต่างประเทศนั้นมีสัดส่วนการลงทุนค่อนข้างน้อย เราจึงมองเห็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าโดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดสรรเงินลงทุนที่ดีเพื่อผลตอบแทนในอนาคต โดยเราหวังว่าจะสามารถดึงลูกค้าประมาณ 50% หันมาลงทุนในกองทุนหุ้นได้

นายพจน์ กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมาธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลถือว่าเติบโตตามเป้าที่เราวางไว้ ซึ่งก่อนก่อนหน้าเรามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ AUM ในส่วนของกองทุนส่วนบุคคลอยู่ที่ 105,000 ล้านบาท คิดเป็น  25% จากเดิมที่เรามีแค่ 84,000 ล้านบาท สำหรับธุรกิจกองทุนกองทุนส่วนบุคคลเราได้ฐานลูกค้าจากมหาวิทยาลัยเข้ามาค่อนข้างมาก ในขณะที่พอร์ตลงทุนใหญ่ๆอย่างประกัน และสถาบันการเงินก็ยังคงมีอยู่ โดยพอร์ตการลงทุนในส่วนนี้เราไม่ได้รวมจากกระทรวงการคลัง ประกันสังคม เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามแผนงานของกองทุนส่วนบุคคลนั้นเรายังตั้งเป้ามองหาฐานลูกค้าใหม่และยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยในปี 2558  นี้เราตั้งเป้าในส่วนของAUM กองทุนส่วนบุคคลอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท หรืออยากให้ขยับมาแตะที่ 120,000 ล้านบาท

นายพจน์  กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น หากเติบโตตามเป้าคือ GDP โต 4% นั้นก็คาดน่าจะส่งผลดีกับบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันหุ้นไทยเมื่อเทียบกับหุ้นในภูมิภาคจะพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปค่อนข้างมาก ทำให้เรามองว่ามีโอกาสพอสมควรที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะกลับเข้ามาลงทุนหุ้นไทยเพิ่ม  โดยเรามองดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ที่ 1,650-1,700 จุด โดยหุ้นในกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มธนาคารและกลุ่มก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งคงต้องติดตามว่านโยบายเศรษฐกิจต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น