บลจ.ยูโอบีตั้งเป้า AUM เติบโต 3 แสนล้าน รุกกองทุนต่างประเทศ และพอร์ตการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ให้น้ำหนัก ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน และอินเดีย มองหุ้นไทยดัชนี 1,650 จุด จับตานโยบายการลงทุนภาครัฐฯ
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เติบโตอยู่ที่ 267,674 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวมอยู่ที่ 128,148 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคลอยู่ที่ 62,166 ล้านบาทและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 77,360 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้า AUM เติบโตอยู่ที่ 300,000 ล้านบาทหรือพิ่มขึ้น 10% จากในปีที่ผ่านมา โดยจะเน้นการเติบโตจากกองทุนรวมต่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งเน้นการขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าสถาบันไปพร้อมกับการขยายฐานกลุ่มลูกค้ารายบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จึงมุ่งเน้นการคัดสรรผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่เหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์การลงทุนของกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว
นางสาวศิริพรรณ สุทธาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในปีนี้ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีการเติบโตดี แต่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่านโยบายการเงินจะยังไม่ออกจากการทำมาตรการ QE แต่ก็เริ่มทำให้มีความตึงตัวทางการเงิน ขณะที่ยุโรปยังต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ส่วนเอเชียมีการเติบโตที่สูงโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะและโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน
โดยสหรัฐฯ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน ทั้งภาคการผลิต การจ้างงานเพิ่มขึ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยและค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยที่ท้าทายว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ขณะที่ยุโรป การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่ดี เงินเฟ้อยังต่ำ และการว่างงานยังสูง แต่ยังมีปัจจัยบวกในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นโอกาสการลงทุน จากมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น
“ในปีนี้ทาง บลจ.ยูโอบีให้น้ำหนักการลงทุนต่างประเทศ ได้แก่ หุ้นญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย โดยพอร์ตการลงทุนแนะนำให้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศในสัดส่วน 50-50 โดยในพอร์ตการลงทุนในไทยแนะนำลงทุนหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% ขณะที่พอร์ตการลงทุนในต่างประเทศให้กระจายลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีนกับอินเดีย”
ส่วนเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ต้องดูเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐบาลเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งการใช้จ่ายการบริโภคยังไม่เพิ่้มขึ้นชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ มีปัจจัยกระทบเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง ซึ่งเชื่อว่าในระยะแรกรัฐบาลน่าจะดำเนินการเรื่องรถไฟรางคู่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวก นอกเหนือภาคการท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนการเติบโต คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะเติบโตที่ 4.0% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ 0.8% ซึ่งการเติบโตนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคและกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน คาดว่าทาง กนง.ไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้และการประชุมในครั้งต่อไปด้วย เพราะทางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3 สำหรับการลงทุนในหุ้นไทยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1,650 จุด และแนวต้านที่ระดับ 1,550 จุด โดยหุ้นไทยที่น่าสนใจยังเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลุ่มพลังงานทดแทน