xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟ ประเมินจีดีพีไทยปีนี้ยังโตได้ 3.7% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไอเอ็มเอฟ ประเมินจีดีพีไทยปีนี้โตร้อยละ 3.7 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชน ที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การบริโภคเอกชนที่อ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว และเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคที่ฟื้นตัว และการลงทุนภาคเอกชน ระบุการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ ได้ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ประจําปี 2558 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2558 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.7 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ แต่การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีข้อจํากัด จากอัตราการใช้กําลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ คำสั่งซื้อต่างประเทศที่ยังชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังมีข้อจํากัดจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐทําได้ล่าช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังอ่อนแอ

เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของนโยบายภาครัฐ ภาคเอกชนที่อ่อนแอกว่าคาด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว และเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกจะมาจากการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่อาจได้รับผลดีมากกว่าที่คาดไว้จากราคาน้ํามันที่ลดลงมาก

คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ เห็นด้วยต่อมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบนโยบายการรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง อีกทั้งเห็นด้วยต่อการปฏิรูปมาตรการอุดหนุนต่างๆ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แทนการอุดหนุนในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในกรณีโครงการรับจํานําข้าว และการอุดหนุนราคาพลังงาน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดทําร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการคลัง ซึ่งเป็นการกําหนดกรอบวินัยทางการคลังในระยะปานกลาง การทบทวนแผนกลยุทธ์ในการบริหารระบบรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดทําแผนการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

ส่วนนโยบายการเงินมีความเหมาะสม และอาจสามารถพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติมได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยต้องคํานึงถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเสถียรภาพการเงินด้วย นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังสนับสนุนการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

ทั้งนี้ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกเป็นความท้าทายสําคัญต่อการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นด้วยว่าไทยยังคงมีเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถจะนํามาใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น ทุนสํารองระหว่างประเทศที่มีจํานวนมาก และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะทําหน้าที่เป็นเครื่องมือรองรับความผันผวนในตลาดการเงินได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น