xs
xsm
sm
md
lg

สรุปแนวทางจัดการขยะเสนอ คสช. ใช้วิธีผสมผสานดีกว่าเผาอย่างเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยเตรียมสรุปแนวทางจัดการขยะชุมชนให้ คสช. พิจารณา ระบุควรใช้วิธีผสมผสานมากกว่ามุ่งวิธีเผาขยะผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว ข้อมูลประเทศพัฒนาแล้วมุ่งใช้วิธีฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาลมากกว่า เพราะเกิดมลพิษทางอากาศควบคุมยาก แถมค่าก่อสร้าง-ค่าดำเนินการแพงกว่า

ดร.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยเตรียมจัดทำรายงานสรุปเรื่องแนวทางในการบริหารจัดการขยะของประเทศไทย เสนอคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเร็วๆ นี้ หลังจากได้ดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะจัดเสวนามา 2 ครั้งแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อให้ คสช.รับทราบแนวทางการบริหารจัดการขยะชุมชนที่เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งมีหลายวิธีการ นอกเหนือจากเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าเพียงวิธีเดียว ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมลงทุนสร้างเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าตามโรดแมปของ คสช.จำนวนหลายโครงการ โดยเสนอให้พิจารณาวิธีการอื่นๆ ควบคู่ตามความเหมาะสม เช่น การฝังกลบ การหมักทำปุ๋ย การหมักทำก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

“ประเทศอังกฤษ และอียูบางประเทศ จีน ใช้วิธีฝังกลบ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาใช้เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าเพียง 10% ที่เหลือยังคงใช้วิธีฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาล พอ 5-10 ปีก็เจาะเอาก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ เมื่อก๊าซหมดก็ปรับปรุงบ่อขยะทำเป็นสวนสาธารณะ โดยยึดหลักการว่าการจัดการขยะในรูปของแข็งด้วยการฝังกลบก่อให้เกิดมลพิษที่น้อยกว่าการเผาฃยะให้เปลี่ยนรูปเป็นก๊าซ ซึ่งควบคุมได้ยากกว่ามาก”

อีกทั้งการเผาขยะเพื่อมุ่งได้ไฟฟ้านั้นไม่คุ้มการลงทุน เนื่องจากค่าลงทุนและค่าดำเนินการสูงมาก โดยเฉพาะการกำจัดมลพิษ เช่นสารก่อมะเร็งอย่างไดออกซิน และฟิวแรน แต่เมื่อรัฐเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 3 บาท เอกชนก็สนใจลงทุนเพราะหวังกำไร แต่หากขาดทุนจากมาตรการควบคุมและตรวจสอบมลพิษอย่างเข้มงวดก็จะหยุดดำเนินการ สุดท้ายผลกระทบเกิดขึ้น ประชาชนก็ไม่ยอมรับวิธีกำจัดขยะด้วยการเผาผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการฝังกลบที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลที่ผ่านมา

ดร.บุญส่งตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Enviromental Impact Assessment-EIA) โดยให้ใช้แนวปฏิบัติทั่วๆ ไป (Code of Practices-CoP) เป็นมาตรการควบคุมแทน ยิ่งเป็นเรื่องต้องระวังอย่างมาก

“เพราะ EIA เป็นเอกสารที่มีการประเมินและคาดการณ์ผลกระทบพร้อมมาตรการแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบก่อนดำเนินการหรือก่อนก่อสร้าง รัฐสามารถใช้ดำเนินการตามกฎหมายได้หากผิดเงื่อนไข ในขณะ CoP เป็นมาตรการที่ไม่มีการประเมินความรุนแรง ตลอดจนบริเวณที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน” ดร.บุญส่งกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น