xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าขยะ... วิกฤติหรือโอกาสของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาคประชาชนเครือข่ายสุขภาพแห่งชาติจำนวนมากแฉเล่ห์เลี่ยมของนายทุนร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่นหมกเม็ดสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
          เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยได้จัดสัมมนา โรงไฟฟ้าขยะ..วิกฤติหรือโอกาส ขึ้นที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยามหิดล เนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 200 คน มีวิทยากรบรรยายหลายท่านทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่น
          นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและเลขาสมาคมฯได้บรรยายถึงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในต่างประเทศ ว่าจะเป็นประเทศในแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น จะมีกฎหมายชัดเจนให้ประชาชนทำการแยกขยะก่อนนำไปกำจัด มีการใช้งบประมาณในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะจำนวนมาก มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเลือกใช้เทคโนโลยี่สำหรับแต่ละโครงการ
         
          นอกจากนี้ยังให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่คิดโครงการและให้ภาคประชาชนกำกับการดำเนินการของโครงการด้วย..มลพิษที่ต่างประเทศกลัวที่สุดคือ สารไดออกซิน/ฟิวแรนซึ่งองค์การอนามัยโลกถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่1ที่ต้องป้องกัน โดยสารไดออกซิน/ฟิวแรนจะมากับมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกจากเตาเผาสาเหตุจากการทำงานของเตาเผาขยะที่มาตรฐานต่ำ ลงทุนระบบบำบัดมลพิษน้อย นอกจากนี้ยังมาจากขี้เถ้าลอยซึ่งถือเป็นศูนย์รวมของสารไดออกซินที่ต้องไปกำจัดอย่างปลอดภัย ในต่างประเทศมีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งชนิดนี้ในบรรยากาศแต่ประเทศไทยยังไม่กำหนดและในหลักเกณฑ์ของ สผ.เองก็ไม่ต้องทำการตรวจวัด ถามว่าทำไมประชาชนคัดค้านโครงการจำนวนมาก..สาเหตุสำคัญคือไม่ไว้วางใจในความโปร่งใสของราชการและผู้มาลงทุน
          ดร.จรินทร์ ทองเกษม ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงความล้มเหลวของเตาเผาขยะภูเก็ตซึ่งผลิตไฟฟ้า เนื่องการลดต้นทุนในการก่อสร้าง การขาดการบำรุงรักษา อุปกรณ์กำจัดมลพิษชำรุด ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดูแล สุดท้ายเตาแรกก็ต้องปิดตัวลง นอกจากสารไดออกซินไอกรดและโลหะหนัก ไม่มีการตรวจวัดถึงตรวจก็ไม่เคยแสดงผลให้สาธารณชนทราบ ขี้เถ้าทั้งหมดเอาไปถมที่ ข้อเท็จจริงความไม่โปร่งใสคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการล้มเหลว
          ภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการนำโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาในพื้นที่ เช่น ชุมชนเชียงรากใหญ่ จังหวัดปทุมธานี ชุมชนบ้านโพนสว่าง จังหวัดหนองคาย ชุมชนแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ชุมชนจากจังหวัดชุมพร ชุมชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้นได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันหน่วยราชการท้องถิ่นส่วนใหญ่จะอ้างโรดแมปคสช.ทำการร่วมมือกับนายทุนมาซื้อที่ดินและออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยให้ข้อเท็จจริง เทคโนโลยี่ที่นำมาใช้นายทุนคิดเอง สิ่งที่น่าแปลกใจส่วนราชการในจังหวัดเองเช่น สาธารณสุขจังหวัด ทรัพยากรจังหวัดก็นิ่งเฉยไม่เคยให้ความรู้ถึงพิษภัยที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนเลย
         
          ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องมาหาความรู้และร่วมมือร่วมใจในการต่อสู้ คัดค้าน เนื่องจากการทำโครงการประเภทนี้ไม่มีความโปร่งใส เป็นที่หากินของราชการกับนายทุน ชุมชนเองได้รับบทเรียนจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ล้มเหลวมาทั้งประเทศเพราะตอนก่อนก่อสร้างอ้างว่าประสิทธิภาพสูง รักชุมชน เมื่อสร้างแล้วฝุ่นละอองเต็มเมืองไม่เคยมีใครมาแสดงความรับผิดชอบ ข้าราชการเองก็เงียบ สุดท้ายประชาชนต้องแสดงพลังขับไล่



กำลังโหลดความคิดเห็น