เผยค่านิยมคนยุคใหม่เปลี่ยนคอมฯ-โทรศัพท์มือถือบ่อย เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสร้างมลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชี้สถานการณ์ปัญหายุคดิจิตอลประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว คาดปัจจุบันไทยน่าจะมีมากกว่า 4 แสนตันต่อปี
สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นขยะหรือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับเปลี่ยนผู้บริโภคให้ต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่เร็วขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคเริ่มมีค่านิยมในการเปลี่ยนเครื่องก่อนที่เครื่องเดิมจะเสื่อมสภาพ
มีการคาดการณ์ว่า ซากผลิตภัณฑ์ฯ ทั่วโลกน่าจะมีปริมาณมากถึง 40 ล้านตันต่อปี โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดซากผลิตภัณฑ์ฯ มากที่สุดถึง 8-10 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้ประเทศกำลังพัฒนาจะก่อให้เกิดซากผลิตภัณฑ์ฯ ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ คาดการณ์ว่า ภายในปีค.ศ. 2018 ประเทศกำลังพัฒนาจะทิ้งซากคอมพิวเตอร์มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก และภายในปีค.ศ.2030 ปริมาณซากคอมพิวเตอร์ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีมากกว่าถึงสองเท่า คือ 400 ล้านเครื่องเทียบกับ 200 ล้านเครื่องในประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ สารอันตรายและโลหะหนักหลากหลายชนิดที่อยู่ในชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ อาทิ ตะกั่วในจอโทรทัศน์และจอมอนิเตอร์ ปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์ สารทนไฟจากโบรมีน แคดเมียมและลิเทียมในแบตเตอรี่ ซากผลิตภัณฑ์ฯ จึงจัดเป็นขยะพิษหรือของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทหนึ่งที่ต้องจัดการอย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันซากผลิตภัณฑ์ฯ ก็มีองค์ประกอบที่เป็นวัสดุมีค่าหลายชนิดที่ควรนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก พลาสติก อะลูมิเนียม ทองแดง รวมถึงโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินัม พาลาเดียม โรเดียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ซากผลิตภัณฑ์ฯในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักจะถูกจัดการโดยกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า ซึ่งแกะ ทุบ ถอดแยกชิ้นส่วน โดยไม่มีการควบคุมหรือป้องกันมลพิษ มีการเผาสายไฟ การตัดเศษเหล็ก การทิ้งเศษแก้วที่ปนเปื้อนตะกั่วตามแหล่งฝังกลบขยะทั่วไปหรือตามที่รกร้าง และการใช้สารอันตรายในการสกัดแยกโลหะมีค่า เช่น การใช้ไซยาไนด์สกัดทองออกจากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น พื้นที่ที่มีการคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ จึงมีการสะสมของโลหะหนักและสารอันตรายต่างๆ อาทิ ตะกั่ว นิกเกิล แคดเมียม ตลอดจนสารกลุ่ม PAHs, PBDDs, PBDEs สารไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในสภาพแวดล้อมทั้งแหล่งน้ำและแหล่งดิน
ปัจจุบันมีงานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมากที่พบการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอันตรายในพื้นที่ที่มีการคัดแยก เผาหรือรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ฯ รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่คัดแยกและรีไซเคิลในประเทศจีนที่เมือง Guiyu และเมือง Longtang ในจังหวัด Guangdong และเมือง Taizhou จังหวัด Zhejiang และในอีกหลายเมืองในประเทศอินเดีย ไนจีเรีย กานา รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่ามีซากผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้นทุกปีตามระดับความเจริญทางเศรษฐกิจ ในรายงานสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2557 กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ อยู่ที่ประมาณ 376,801 ตัน ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลเพียง 8 ชนิด ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปดิจิตอล
ยังไม่รวมปัจจัยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลและผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แท็บเล็ตพีซี ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค อีกทั้งยังมีโครงการของรัฐบาลในอดีตที่แจกแท็บเล็ตพีซีที่มีอายุการใช้งานสั้นเพียง 2-3 ปี จำนวนกว่า 860,000 เครื่อง ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงปีพ.ศ. 2555 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากมีการสำรวจปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ เหมือนสหภาพยุโรป คาดว่าปัจจุบันปริมาณซากผลิตภัณฑ์ฯ ในประเทศไทยน่าจะมากกว่า 4 แสนตันต่อปี
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปแบ่งผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่และเล็ก เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เตารีด อุปกรณ์สารสนเทศและสื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เพื่อความบันเทิง เช่น โทรทัศน์ ชุดเครื่องเสียง อุปกรณ์ให้แสงสว่าง อุปกรณ์ช่าง ของเล่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ตรวจวัด ไปจนถึงตู้อัตโนมัติ เช่น ตู้หยอดเหรียญเครื่องดื่ม ตู้เอทีเอ็ม
ซากผลิตภัณฑ์ฯในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกขายให้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่าหรือซาเล้งเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากเข้าใจว่าคือ “ของเก่า” แม้บางส่วนจะถูกบริจาคให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อนำไปซ่อมแซมและใช้ซ้ำ แต่บางแห่งที่ได้รับบริจาคในปริมาณมาก ใช้วิธีการขายต่อให้กับกลุ่มรับซื้อของเก่าแทนที่จะนำไปซ่อมแซมเพื่อช่วยคนจนดังที่ผู้บริจาคคาดหวัง ส่วนมูลนิธิและร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถซ่อมได้ ก็จะแยกชิ้นส่วนเพื่อขายเป็นอะไหล่หรือขายซากผลิตภัณฑ์ฯ ต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่าเช่นกัน สุดท้ายปลายทางของซากผลิตภัณฑ์ฯผ่านธุรกิจค้าของเก่าก็จะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังผู้ประกอบการคัดแยกที่จะนำไปถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อขายเป็นวัสดุรีไซเคิล
แหล่งคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และหลายอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนในกรุงเทพมหานคร แหล่งคัดแยกใหญ่อยู่ที่ซอยเสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร ลักษณะการประกอบการจะคล้ายกับชุมชนคัดแยกในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือ ชุมชนคัดแยกจะถอดแยกเฉพาะส่วนที่ขายเป็นวัสดุรีไซเคิลได้ เช่น ทองแดง พลาสติก อะลูมิเนียม ส่วนที่ขายไม่ได้และมีสารอันตรายอยู่ก็จะทิ้งหรือเผา ทำให้ประเทศไทยได้รับความเสี่ยงจากการสะสมของสารอันตรายในห่วงโซ่อาหารมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากผลกระทบจากกลุ่มคัดแยกของเก่าแล้ว ซากผลิตภัณฑ์บางประเภท อาทิ หลอดไฟ ถ่านไฟฉายเป็นขยะที่ยังไม่คุ้มต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ไม่มีตลาดรีไซเคิลรองรับหรือต้องจ่ายค่าบำบัดให้กับโรงงานรีไซเคิล ซากผลิตภัณฑ์ฯ กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะถูกทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป ทำให้มีความเสี่ยงที่สารอันตรายและโลหะหนักในซากผลิตภัณฑ์ฯ จะรั่วไหลและปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารได้เช่นกัน