รองนายกฯ เผยเสนอความเห็นให้ กรธ.ปรับแก้ร่าง รธน.แล้วหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีผู้ท้วงติงมาก ระบุแม้จะมีอยู่แล้วแต่ควรบัญญัติให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการคัดค้านอีก พร้อมเสนอให้ออก กม.ลูกเท่าที่จำเป็น เพื่อร่นเวลาให้ทันเลือกตั้งปี 2560 ตามโรดแมป ยันไม่เสนอองค์กรพิเศษ แต่เสนอให้ใส่ในยุทธศาสตร์ 20 ปีในหมวดปฏิรูป รับ “ยงยุทธ” เสนอออก กม.ตั้งองค์กรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้รายงานที่ประชุมทราบถึงผลการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการเตรียมการทำประชามติ และความเห็นของ ครม.ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้รักษาการแทนนายกฯ ลงนาม ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้ว โดยความเห็นของ ครม.แตกต่างจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพราะพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองอย่างมากที่สุด เพราะครม.ให้ความสนใจเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าอย่างอื่น อาทิ การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญ ความชัดเจนเรื่องบทบัญญัติต่างๆ ขณะที่เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้เขียนเรื่องการปกครองส่วนกลางและภูมิภาคไว้ ก็ตั้งข้อสังเกตตรงนี้ไปยัง กรธ.
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เสนอไป คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ แม้ในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้พอสมควรและย้ำว่าสิทธิเสรีภาพเดิมที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนยังคงอยู่ แต่คนทั่วไปทักท้วงสิทธิบางอย่างที่เคยเขียนไว้ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ จึงเสนอแนะไปว่าในเมื่อเจตนาตรงกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพก็บัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญชัดเจน จะได้ไม่มีการคัดค้านกันในเรื่องนี้
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำหนดเวลาหากเดินตามบทเฉพาะกาล กว่าจะมีการเลือกตั้งอาจยาวนานเกินไป ดังนั้น ต้องร่นเวลาให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปี 60 ส่วนเดือนนั้นอยากให้เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลและ คสช.ประกาศไว้ ซึ่งวิธีคือให้ออกกฎหมายลูกเท่าที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งก่อน นอกจากนี้ ได้เสนอให้เพิ่มหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปตำรวจควรปฏิรูปให้ครอบคลุมทั้งระบบไม่ใช่เพียงแค่การแต่งตั้งโยกย้าย นายกฯ เคยปรารภหลายครั้งแล้วว่าอยากเห็นการเขียนถึงยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดช่วงเวลาตรงกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากทุกอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกัน อย่างนี้เอามาใส่ไว้ในหมวดปฏิรูปเสีย
“และสิ่งสำคัญที่รัฐบาลแสดงความกังวลไปยัง กรธ.คือ ไม่ว่าจะเขียนอะไรอยากให้คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่มีองค์กรมาวินิจฉัยชี้ขาดให้ กรธ. เอาปัญหาเหล่านี้มาคลี่ออก แล้วเขียนตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้ แต่ยืนยันว่าความเห็นที่ ครม.ส่งไป ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับ คปป. องค์กรพิเศษ มาตรการพิเศษอะไร เพียงแต่ให้เขียนว่าหากมีปัญหาเหมือนเดิมให้มีวิธีแก้ ส่วนจะแก้ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่าให้กลายเป็นว่าปัญหาเกิดแล้วไม่ได้เขียน”
นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูนั้น ได้นัดหารือกันใน 1-2 วันนี้ โดยจุดใหญ่ที่จะพูดถึงคือการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนมาเป็นอย่างอื่นว่ามีอะไรที่ดีพอจะแทนกันได้ จึงให้ กกต.ไปช่วยคิด ดังนั้นต้องรอ ถ้ายังไม่เสนอมาจะไปด่วนตัดเรื่องนี้เลยไม่ได้ แต่ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นผู้มีสิทธิ์และผู้มาใช้สิทธิ์ไปพลางก่อนแล้วซึ่งกำลังร่างอยู่
ส่วนที่ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (สปท.) เสนอร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ...นั้น นายวิษณุกล่าวว่า พ.ต.ต.ยงยุทธขอ ครม.เพื่อตั้งองค์กรมากำหนดยุทธศาสตร์ ส่วนยุทธศาสตร์มีอะไรขอยังไม่พูด ซึ่งเขาไม่ได้เป็นคนกำหนด แต่จะมี พ.ร.บ.มากำหนดว่าให้มีองค์กรจากภาคส่วนไหนบ้าง ซึ่งตนแนะนำไปว่าต้องสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสภากลาโหมมาช่วยดู และรัฐบาลไม่ได้เสนอความเห็นไปยัง กรธ.เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติเลย บอกเพียงว่าในหมวดปฏิรูปอยากให้พูดถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ เขียนให้รู้ว่าต้องเดินอย่างไร เช่นเดียวรัฐธรรมนูญที่เขียนมัดไว้มาก จะแก้ง่ายแก้ยากก็ต้องแก้ได้