xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” แย้ม สนช.หนุนร่าง รธน.ให้ผ่านประชามติ หากวืดอาจแก้ฉบับชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย (แฟ้มภาพ)
ประธาน สนช.หนุนร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย” ให้ผ่านประชามติ ระบุหากไม่ผ่านอาจแก้ รธน.ชั่วคราว แต่ต้องขึ้นอยู่ที่ คสช. เชื่อมีทางออกอยู่แล้ว ด้าน “อลงกรณ์” เชื่อ รธน.ใหม่แก้ปัญหาประเทศอ่อนแอ



นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงการอภิปรายความคิดเห็นของ สนช.ต่อร่างแรกรัฐธรรมนูญว่า สนช.มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้ร่างนี้ผ่านประชามติ เพื่อให้เดินไปตามโรดแมปที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งกลางปี 2560 การอภิปรายของที่ประชุมไม่ได้มีเจตนาตำหนิหรือยกยอ กรธ. แต่ทำไปเพื่อให้เห็นว่า เราทำหน้าที่ประโยชน์ของชาติ หวังให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสอดคล้องหลักสากลและบริบทของประเทศไทย จนผ่านประชามติ

นายพรเพชรกล่าวว่า การอภิปรายของเราก็หยิบมาจากข้อสังเกตของสังคม ทั้งสื่อและนักการเมือง หาก กรธ.เห็นว่ามีเหตุผลก็เชื่อว่าจะแก้ไข เพราะตนทราบว่า กรธ.ไม่ได้มีธงจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่หากไม่แก้ กรธ.ก็ต้องตอบข้อสงสัยแก่สังคม ส่วนประเด็นเรื่องถ้อยความที่สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาการตีความภายหลัง สนช.ก็จะทำหนังสือไปให้ อีกทั้ง สนช.จะประสานงานกับ กรธ.ตลอดเวลาเพื่อร่วมกันทำกฎหมายลูก

นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนข้อถกเถียงเรื่องการลงคะแนนเสียงประชามติ ตนเห็นว่าเสียงชี้ขาดจะใช้เกินหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ แต่ก็ยังคงมีคนเห็นต่างอยู่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เขียนว่าให้ใช้เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะนี้ตนก็ได้ทำการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย มีแนวโน้มว่าน่าจะต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้เกิดความชัดเจน มากกว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ส่วนทางออกหากประชามติไม่ผ่านนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ตอบว่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่อไปก่อน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดกลไกต่อไปว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่าผู้มีอำนาจคิดไว้เสร็จสรรพแล้ว เพื่อให้มีการเลือกตั้งกลางปี 2560 แต่ยังไม่บอกตอนนี้ ประเด็นทางออกหากทำประชามติไม่ผ่าน ตนเห็นว่าอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังผ่านการทำประชามติไปแล้วได้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ส่วนตัวคิดว่าหากไม่ผ่านด้วยคะแนนห่างกันเล็กน้อย ก็อาจจะนำมาศึกษา ทำโพล ปรับปรุงต่อไปให้ถูกใจประชาชน หรืออาจหยิบฉบับ 2540 และ 2550 ที่เสนอกันมาปรับปรุงก็ได้ แต่หากแพ้เยอะ ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับก็ต้องทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ 2 ครั้ง สำหรับเกณฑ์คะแนนประชามติ และทางออกหากไม่ผ่าน ใช่หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ใช่ ก่อนประชามติต้องทำแน่ คือ เรื่องของเสียงประชามติที่ค่อนข้างยุติแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้ ส่วนทางออกจะทำด้วยเลยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวว่า สปท.มีมติในการกำหนดแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยในวันที่ 8-9 ก.พ.จะมีการให้สมาชิกได้เสนอแนะข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม ก่อนส่งให้ กรธ.ในวันที่ 15 ก.พ.

“ยอมรับว่ากังวลเรื่องของการปฏิรูประเทศในรัฐบาลต่อไป ทำให้มีความเห็นว่าควรกำหนดเป็นหมวดเฉพาะว่าด้วยการปฏิรูปเช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ ส่วนจะมีประเด็นปัญหาที่จะเกิดวิกฤติในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายจะตระหนักถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และพรรคการเมือง นักการเมือง ต้องไม่ใช้อำนาจสร้างความแตกแยกทางการเมือง จึงเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ได้มีการเขียนป้องกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาประเทศอ่อนแอในระยะยาวเช่นในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงมีกลไกการลงโทษรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ ที่รุนแรงขึ้นเพื่อแก้ไขต้นเหตุของปัญหา อยากให้ทุกคนศึกษาอย่างมีสติ ทั้งนี้ เห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ชาตินั้นต้องมีการปรับปรุงทบทวนอย่างต่อเนื่องตามยุคตามสมัยด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น