ได้อย่างไม่เสียอย่างฉบับนี้ ขออนุญาตนำเรื่องเล่าจากการที่ได้สนทนากับเพื่อนร่วมงานซึ่งทำงานคลุกคลีกับงานเพศศึกษา ต้องปฏิสัมพันธ์กับ “โรงเรียน” (หมายรวมถึงคณะผู้บริหารและครูผู้สอน) เป็นส่วนใหญ่ มาเล่าสู่กันฟังครับ เป็นเรื่องที่เด็กคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิให้ไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยจะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างไม่รับเข้าศึกษา
โดยปกติ ทุกเปิดเทอมจะมีเรื่องร้องเรียนว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียน ไม่ว่าจะในระดับอนุบาล มัธยม หรือระดับอุดมศึกษา แต่คราวนี้ได้รับข่าวว่า ช่วงใกล้จะปิดเทอมนี้ ว่า มีเด็กคนหนึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในระดับอนุบาลเพียงเพราะครูสงสัยว่าเด็กจะติดเชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่ซึ่งเสียชีวิตด้วยเอดส์ไปก่อนหน้านี้
การกีดกันที่ว่า มีรูปธรรมคือ การยื่นเงื่อนไขให้เด็กคนดังกล่าวไปตรวจเลือด และหากพบว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวีจึงจะรับเข้าเรียน ซึ่งเป็นไปได้ว่า คณะครูในโรงเรียนนั้น ๆ อาจจะยังมีความเข้าใจเรื่องเอดส์ไม่ดีพอ เป็นไปได้ว่า ด้วยความเป็นห่วงเด็กคนอื่น ๆ และด้วยความปรารถนาดีต่อตัวเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีจึงทำเช่นนั้น เพราะครูหลายคนมักจะบอกว่า หากรู้ว่าเด็กคนไหนติดเชื้อจะได้ช่วยเหลือและให้การดูแลเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เอดส์อาจจะเป็นสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนกว่าเรื่องความยากจน ความสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องยาเสพติด หรือความรุนแรงอื่น ๆ ที่จะคัดกรองด้วยระบบดูแลของโรงเรียนได้ เพราะเอดส์เป็นปัญหาในเชิงทัศนคติมากกว่าเชิงสาธารณสุข เหตุผลก็คือ ในเชิงสาธารณสุขเราสามารถป้องกันเอชไอวีและรักษาเอดส์ได้ (และการรักษาเอดส์ของสาธารณสุขไทยก็ก้าวหน้าไปมากจนอยู่ในระดับแถวหน้าของอาเซียน) แต่เชิงทัศนะ เรายังไม่สามารถแก้อคติในการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ ลดการรังเกียจ กีดกัน หรือการตีตราได้
เมื่อมองปัญหาเอดส์ในโรงเรียนผ่านแว่นการปฏิรูปการศึกษาที่ทุกฝ่ายอยากเห็นเด็กไทยมีความสามารถที่สำคัญ 5 เรื่องตามหลักสูตรแกนกลาง พ.ศ. 2551 คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ก็ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ครูและผู้บริหารสถานศึกษามีสมรรถนะ 5 ข้อนี้หรือยัง? เพราะตราบใดที่ครูผู้สอนยังไม่มีความสามารถใน 5 เรื่องดังกล่าว จะถ่ายทอดความสามารถทั้ง 5 ให้เด็ก ๆ ได้อย่างไร
จริง ๆ แล้ว ข้อมูลเรื่องเอดส์ในยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลหรือหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุขแจกอีกต่อไปแล้ว ในเว็บไซต์ต่าง ๆ มีข้อมูลเรื่องเอดส์มหาศาล หากครู (ซึ่งสันนิษฐานว่าเกือบทั้งหมดใช้สมาร์ทโฟนและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้กันแล้ว) มีทักษะในการจัดการ คิดวิเคราะห์ และเลือกหยิบข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้ ข้อเท็จจริงเรื่องเอดส์ก็อยู่แค่ปลายมือ
แต่ถ้าครู เลือกที่จะหยิบเพียงความเชื่อ สิ่งที่บอกต่อกันมาซึ่งไม่ใช้ข้อเท็จจริงในเรื่องเอดส์แล้วนำไปสื่อสารต่อกับผู้ปกครอง หรือเด็กคนอื่น ๆ ก็อย่าเพิ่งไปคิดปฏิรูปการศึกษาเลย เพราะมันดูไกลเกินฝัน
ปฏิรูปครูก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ ค่อยว่ากัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่