xs
xsm
sm
md
lg

"ดาว์พงษ์"แจง 4 เหตุใช้ ม.44 รวบอำนาจเข้าศธ. โล๊ะคกก.เขตพื้นที่ฯ-อ.ก.ค.ศ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ลงวันที่ 21 มี.ค. 2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางในการดำเนินงานของ ศธ. วางแผนงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ ศธ. พิจารณาจัดสรรงงบประมาณให้แก่หน่วยงานของ ศธ. ในระดับภูมิภาคและจังหวัด แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยของศธ.ระดับภูมิภาคและจังหวัด ตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด “กศจ.” มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธานและคณะอนุกรรมการการศึกษาจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อกศจ.” มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นประธาน ปฏิบัติงานตามที่ กศจ.มอบหมาย และให้มีการยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้โอนอำนาจหน้าที่ไปให้ กศจ.จังหวัด นั้น

และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 18 ภาค และให้มีศึกษาธิการจังหวัด โดยรับอำนาจหน้าที่ของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและอ.กค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้งหมดและระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการ ให้สพป.เขต 1 ในจังหวัดต่างๆทำหน้าที่เป็นสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัดนั้นๆไปพลางก่อน

ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงถึงคำสั่งดังกล่าว ว่า สาเหตุที่ใช้ ม.44 ในการดำเนินการยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯและอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มี 4 เหตุผลหลัก คือ 1.บูรณาการในระดับภมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาแม้ทุกฝ่ายจะรับนโยบายจาก ศธ.ลงไปปฏิบัติแต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ แต่จากนี้จะขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคกำกับดูแล ภาพรวม ระดับภูมิภาคจะมี กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ดูแล 2.ลดช่องว่างการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาสายการบังคับชากว้างเกินไป เลขาธิการ กพฐ.1 คนจะต้องดูแลเขตพื้นที่ 225 เขต แต่จากนี้ช่องว่างจะลดลง กระชับมากขึ้นตามลำดับ 3.ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา โดยจากนี้ทุกองค์กรหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดจะต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษา และ 4.ความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมา ศธ.พบปัญหาการบริหารบุคลากร อาทิ การเกลี่ยครู การบรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้อำนวยการ และการดำเนินการทางวินัย

"ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาขาดการบูรณาการ การทำงานที่เป็นเอกภาพ และโดยเฉพาะการบริหารบุคคล ทั้งบรรจุครู อนุมัติย้ายข้ามเขต หรือลงโทษวินัยเหล่านี้จะต้องต้องผ่านอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นวงที่แคบ แต่จากนี้จะทำในวงที่ใหญ่ขึ้นเพราะมองในภาพกว้างระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จะทำให้มีทางเลือกที่จะคัดเลือกครู ผู้บริหารร.ร.ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้กระชับ คล่องตัวขึ้น ส่วนที่ในคำสั่งระบุเรื่องอำนาจหน้าที่ของ รมว.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ผมจะใช้อำนาจตามความจำเป็น หรือแม้แต่การตั้งกรรมการผู้แทนประชาชน ข้าราชการครู และผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นนั้น ในทางปฏิบัติจะให้ทาง กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามา" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนี้จะให้ สพป.เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน กศจ.ไปพลางก่อน ในส่วนของศึกษาธิการภาค 18 ภาคนั้น รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.จะลงนามตั้งผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนตามประเด็นปฏิรูปการศึกษา อาทิ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คืนครูสู่ห้องเรียน การผลิตและพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา โครงการประชารัฐ ฯลฯ

"ส่วนที่มีการมองว่าคำสั่งนี้เป็นการถอยหลังหรือไม่ ทั้งที่การปฏิรูปการศึกษามุ่งให้เกิดการกระจายอำนาจไป แต่ผมมองว่าเวลานี้เราต้องมองว่าปัญหาของ ศธ.คืออะไร ผมไม่ได้บอกว่ากระจายอำนาจไม่ดีแต่เห็นว่าเราควรทำเมื่อพร้อมโดยไม่ใช้เวลาเป็นเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่าน ศธ.มักถูกต่อว่าเรื่องคุณภาพการศึกษา ดังนั้นก็ต้องมาปรับตัวใหม่เมื่อที่ทำอยู่ยังไม่มีอะไรดี มีแต่จะเลวลงทำไมไม่ไปดูของเดิมว่ามีจุดดีอย่างไร ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เกิดเสียงเรียกร้องของคนในกระทรวงทั้งสิ้น ไม่ได้คิดเองคนเดียว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าครูและบุคลากรทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แม้บางเรื่องอาจจะต้องรอไปบ้าง เช่น การขอย้าย แต่จะใช้เวลาไม่นาน ขณะที่เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และจากนี้ที่จะเร่งทำอีกเรื่องคือการประกาศจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น