“ดาว์พงษ์” แจง 4 เหตุผล ใช้ ม.44 มั่นใจ กศจ. ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล แต่ไม่ระบุจะใช้โครงสร้างนี้นานเท่าไหร่
วันนี้ (22 มี.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ คสช. ออก ม.44 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ว่า สาเหตุที่ใช้ ม.44 ในการดำเนินการยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ มี 4 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1. บูรณาการในระดับภูมิภาค เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายจะรับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงไปปฏิบัติ ซึ่งพบปัญหาการทำงานเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น จากนี้ไปจะขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคกำกับดูแล ภาพรวม โดยคณะกรรมการระดับภูมิภาคจะมี กศจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ดูแล 2. ลดช่องว่างการบังคับบัญชา ที่ผ่านมา สายการบังคับชากว้างเกินไป คือ เลขาธิการ กพฐ. 1 คนจะต้องดูแลเขตพื้นที่ 225 เขต จากนี้ช่องว่างจะกระชับมากขึ้นตามลำดับ 3. ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา โดยนับจากนี้ไปทุกองค์กรหลักของ ศธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดจะต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษา และสุดท้าย มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ที่ผ่านมา ศธ. พบปัญหาการบริหารบุคลากร เช่น การเกลี่ยครู การบรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้อำนวยการ และการดำเนินการทางวินัย ค่อนข้างล่าช้า
“ศธ. ประสบปัญหาขาดการบูรณาการ การทำงานที่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการบริหารบุคคล ทั้งบรรจุครู การโยกย้ายข้ามเขต หรือลงโทษวินัย จะต้องต้องผ่าน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จากนี้ไปจะมองในภาพกว้างระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค จะทำให้คัดเลือกครู ผู้บริหารสถานศึกษาได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้กระชับ คล่องตัวขึ้น ส่วนที่ในคำสั่งระบุเรื่องอำนาจหน้าที่ของ รมว.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ผมขอยืนยันจะใช้อำนาจตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนการตั้งกรรมการผู้แทนประชาชน ข้าราชการครู และผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นนั้น ในทางปฏิบัติจะให้ทาง กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามา” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น จะให้ สพป. เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน กศจ. ไปพลางก่อน ในส่วนของศึกษาธิการภาค 18 ภาคนั้น รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. จะลงนามตั้งผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนตามประเด็นปฏิรูปการศึกษา เช่น ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คืนครูสู่ห้องเรียน การผลิตและพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา ยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษ การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน อาชีวศึกษาเป็นเลิศ โครงการประชารัฐ ฯลฯ
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้โครงสร้างนี้ถึงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคือในช่วงที่ คสช. บริหารประเทศอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนหลังจากเลือกตั้งไปแล้ว คงต้องดูผลประเมินอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งนี้เป็นการถอยหลังหรือไม่ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษามุ่งการกระจายอำนาจไป พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เวลานี้เราต้องมองว่าปัญหาของ ศธ. คืออะไร ผมไม่ได้บอกว่ากระจายอำนาจไม่ดี เราควรทำเมื่อพร้อมโดยไม่ใช้เวลาเป็นเงื่อนไข หรือเป็นตัวกำหนด เพราะที่ผ่านมา ศธ. มักจะถูกต่อว่าเรื่องคุณภาพการศึกษา เพราะฉะนั้น ต้องมาปรับตัวใหม่เมื่อที่ทำอยู่ยังไม่มีอะไรดี มีแต่จะเลวลงทำไมไม่ไปดูของเดิมว่ามีจุดดีอย่างไร การตัดสินใจครั้งนี้เกิดเสียงเรียกร้องของคนในกระทรวงทั้งสิ้น ไม่ได้คิดเองคนเดียว ผมยืนยันว่าครูและบุคลากรทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่บางเรื่องอาจจะต้องรอไปบ้าง เช่น การขอย้าย แต่จะใช้เวลาไม่นาน ขณะที่เขตพื้นที่ฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ส่วนเรื่องที่ผมจะเร่งทำคือการประกาศจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในเร็ว ๆ นี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่