xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ซูจี” คิด “ถิ่น จอ” ทำ “ซูจี” นายกฯ “ถิ่น จอ” ประธานาธิบดี!!! หญิงเหล็กจะบริหาร “เมียนมา” ได้อย่างไร???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2553 ถิ่นจอ (ขวา) ยืนข้าง อองซานซูจี ที่เกาะรั้วกำแพงบ้านพักพบกับผู้สนับสนุน 1 วันหลังซูจีได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวในบ้านพักในนครย่างกุ้ง  -- AFP
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รัฐสภาเมียนมาลงมติในวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ นายถิ่นจอ (Htin Kyaw) ได้กลายเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของประเทศในรอบกว่า 100 ปีนับตั้งแต่การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แล เป็นเวลากว่าห้าทศวรรษ ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ทว่า ผู้นำสูงสุดที่ไม่ได้มาจากทหารผู้นี้ไม่ใช่ นางอองซานซูจี ที่นำพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

คำถามก็คือ อองซานซูจีซึ่งไม่มีสิทธิจะเข้ารับตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ที่สมควรจะต้องเป็นของนางอย่างชอบธรรมนั้น จะบริหารประเทศได้อย่างไร หลังจากได้ประกาศเอาไว้ขณะหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้ใดจะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีก็ตาม นางจะยังคงเป็นผู้บริหารประเทศตลอดสมัย 5 ปีข้างหน้า

“ผู้นำเงา” จะทำอย่างไรให้รัฐบาลพลเรือนที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น สามารถทำงานกับกองทัพได้ และตนเองสามารถทำงานกับประธานาธิบดีที่มีอำนาจล้นพ้นได้ เรื่องเหล่านี้ไม่ง่าย เปราะบาง อันตรายและสุ่มเสี่ยง ต่อการถูกกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจ กลับเข้าสู่ยุคเก่าๆ อีกครั้ง

พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี กวาดชัยชนะอย่างท่วมท้น ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) แต่รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้นระบุห้ามบุคคลผู้ใดก็ตามที่สมรสหรือมีทายาทเป็นชาวต่างชาติเข้ารับตำแหน่งสำคัญ ทำให้อองซานซูจีที่มีลูกชายเป็นชาวอังกฤษ หมดโอกาสได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ

ก่อนพรรค NLD ต้องเสนอชื่อผู้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อจาก ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่จะหมดวาระลงวันที่ 31 มีนาคม นางซูจีได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถึง 3 ครั้ง เกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจ รวมทั้งเจรจาต่อรองในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญข้อที่ขัดขวาง มิให้เข้ารับตำแหน่งบริหารสูงสุด แต่ไม่เป็นผล กองทัพยืนยันจะไม่แก้ไขกฎหมายสูงสุด โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคง

ผบ.กองทัพเมียนมากล่าวว่า ประเทศก้าวเข้าสู่กระบวนการเป็นประชาธิปไตยเพียง 5 ปีเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้นควรได้รับการแก้ไขในเวลาที่เหมาะสมตามที่บัญญัติไว้ในมาตราหนึ่ง และกล่าวย้ำความเชื่อ ของตนว่า กองทัพสมควรมีบทบาทสำคัญในการเมืองต่อไป จนกว่าการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยจะมีความมั่นคง การแก้ไขรัฐธรรมนูญรวดเร็วเกินไป อาจกลายเป็นแบบอย่างที่เป็นอันตราย

เมื่อเห็นได้ชัดว่าความหวังจะโน้มน้าวทหาร ให้เห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานาธิบดีไม่เป็นผล NLD จึงเลื่อนกระบวนการเลือกประธานาธิบดีให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ จากเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 17 มีนาคมซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่มองไปที่นายถิ่นจอ (Htin Kyaw) ผู้มีความเรียบง่าย ติดดิน และมีความจงรักภักดีต่อหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากอองซานซูจี ได้ให้คำมั่นแก่ประชาชนว่า นางจะบริหารประเทศอยู่เหนือประธานาธิบดี ซึ่งอาจจะเป็นไปในลักษณะ “ซูจีคิด ประธานาธิบดีทำ” ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงข้อจำกัด

ตามระบบการเมืองอันซับซ้อนของเมียนมา รัฐสภาจะต้องเลือกประธานาธิบดีจากผู้สมัคร 3 คน ที่เสนอชื่อโดยวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และ กองทัพ ที่ส่งตัวแทนไปครองที่นั่ง 1 ใน 4 ทั้งสองสภาตามรัฐธรรมนูญ ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจะได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนอีก 2 คน ที่คะแนนรองลงไป จะเป็นรองประธานาธิบดี

เมื่อฝ่ายค้านครองเสียงส่วนใหญ่ในทั้งสองสภา จึงทำให้สามารถเสนอชื่อผู้สมัครได้ถึง 2 คน และควบคุมผลการเลือกตั้งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก NLD ไม่เคยมี “ผู้นำหมายเลข 2” มาก่อน ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายตึงเริ่มสำรวจตรวจสอบ มองหา ผู้ที่นางซูจีจะหยิบขึ้นมาเป็นร่างทรง ซึ่งปรากฏชื่อทั้ง พล.อ.ฉ่วย มาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนางซูจีมากขึ้นในระยะหลัง หรือ แม้กระทั้งแพทย์ประจำตัวของนางซูจีเองที่เข้าร่วมการหารือกับ พล.อ.มิน ออง หล่าย หลายครั้ง รวมทั้งนายถิ่น จอ ที่ถูกมองเป็นคนขับรถส่วนตัวของผู้นำ ก็อยู่ในกลุ่มตัวเก็งเช่นกัน
 ถิ่น จอ ประธานาธิบดีพม่า (ซ้าย)  พล.อ.มี้น ส่วย รองประธานาธิบดีคนที่ 1 (กลาง) และ เฮนรี วันเทียว รองประธานาธิบดีคนที่ 2 (ขวา)  -- AP
ในวันที่ 10 มีนาคม รัฐสภาเมียนมาได้ประกาศว่า บุคคลที่เป็นตัวแทนได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือ ถิ่น จอ ส่วนตัวแทนจากสภาสูงคือ เฮนรี วันเทียว สมาชิกรัฐสภาจากพรรค NLD เป็นคนชาติพันธุ์ชิน และตัวแทนฝ่ายทหารคือ พล.อ.มี้น ส่วย นายทหารเกษียณราชการ ที่เคยใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการทหาร

สำหรับประธานาธิบดีคนล่าสุดของประเทศ เพิ่งเข้าร่วมพรรคได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่เป็นคนสนิทเก่าแก่ และใกล้ชิดของนางซูจี ปัจจุบันเป็นผู้บริหารอาวุโสมูลนิธิดอว์ขิ่นจี ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อมารดาของอองซานซูจีนั่นเอง

การเสนอชื่อ ถิ่น จอ นอกจากจะสะท้อนความไว้วางใจ ในความจงรักภักดีของชายผู้นี้ ก็ยังอาจบ่งชี้ว่า อองซานซูจีนเชื่อถิ่นจอมีคุณสมบัติเพียงพอ ที่จะได้รับการต้อนรับจากผู้มีสิทธิออกเสียงนับล้านคน ซึ่งแสดงพลังส่งให้พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเกินความคาดหมาย

การที่พรรคครองเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง นับเป็นการการันตีว่า ถิ่นจอ จะได้เป็นผู้นำรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในพม่า นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2505 และ ก่อนเสนอชื่อถิ่นจอ อองซานซูจีได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนอดทนและยืนหยัดเคียงข้างพรรค NLD ต่อไป พร้อมยืนยันว่า พรรคมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด

ในวันที่ 15 มีนาคม นายมาน วิน ข่าย ทั่น ประธานรัฐสภาคนใหม่ก็ได้ประกาศว่า นายถิ่นจอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียง 360 เสียงจากทั้งหมด 652 เสียง

ผู้นำคนใหม่ของเมียนมาได้กล่าวยกย่องต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น และตำแหน่งที่เขาได้รับว่า เป็นชัยชนะของอองซานซูจี ทั้งยังระบุด้วยว่า ผลที่ออกมาในวันนี้ มาจากความรักของประชาชนที่มีต่อนาง


“นี่เป็นชัยชนะของพี่อองซานซูจี” ถิ่น จอ ที่อายุน้อยกว่าซูจี 1 ปี กล่าวหลังการประกาศผลการนับคะแนนในกรุงเนปีดอ

ผู้สมัครอีก 2 คนคือ พล.อ.มี้น ส่วย ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ และเฮนรี วันเทียว จะทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ นายพลนอกราชการได้คะแนนโหวต 213 เสียง ขณะที่นายเฮนรี วันเทียว ได้ 79 เสียง คะแนนเสียงของมี้นส่วยส่วนใหญ่ไปจากตัวแทนฝ่ายทหาร อีกส่วนหนึ่งจากพรรคการเมืองที่กองทัพให้การสนับสนุน

เชื่อกันว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในปลายมีนาคมนี้ เนื่องจาก ประธานาธิบดีเต็งเส่ง จะครบวาระลงในสิ้นเดือนตามรัฐธรรมนูญ และคาดกันว่า รัฐบาลจะประกอบด้วยบุคคลจากแวดวงการเมือง อันเป็นความพยายามของนางซูจีที่จะส่งเสริมความปรองดองในชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่กำลังจะต้องเผชิญความท้าทายนานัปการ ตั้งแต่ปัญหาความยากจน สงครามกลางเมืองในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่

ประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี ยกเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงกิจการชายแดน ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีทั้ง 2 คน จะเข้ากล่าวสาบานตนในรัฐสภาในวันที่ 30 มีนาคมและ เข้าร่วมพิธีส่งมอบหน้าที่ประธานาธิบดี ณ ทำเนียบประธานาธิบดี

แต่ยังคงไม่ชัดเจนว่า อองซานซูจีวางแผนจัดความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีตัวแทนอย่างไร นางจะทำงานร่วมกับรัฐบาล และ คณะรัฐมนตรีในฐานะอะไร จึงทำให้เกิดการคาดเดาขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า เป็นได้ไหมหาก ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ จะจัดตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ “ผู้นำรัฐบาล” ขึ้นมา สำหรับ “พี่อองซานซูจี” โดยเฉพาะ ถึงแม้ประเทศจะไม่มีตำแหน่งดังกล่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราใดกำหนดห้าม

ถ้าหากการจัดตั้งตำแหน่ง “ผู้นำรัฐบาล” เป็นทางเลือกหรือทำได้ อองซานซูจีก็สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ และ เต็มภาคภูมิ สมกับฐานะผู้ที่อุทิศทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำให้ประเทศมีวันนี้

แต่ทำจะทำอย่างไรหากการจัดตั้งตำแหน่ง “ผู้นำรัฐบาล” ถูกคัดค้านจากกองทัพ เนื่องจากว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ ประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด?

นักวิเคราะห์มองว่า อีกตำแหน่งหนึ่งที่อองซานซูจีสามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าใครๆ ก็คือ รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้นำฝ่ายค้านได้เดินทางท่องโลก กระชับความสัมพันธ์ กับนานาอารยประเทศ ได้รับเกียรติสูงส่ง แสวงหาความช่วยเหลือ เพื่อการเยียวยาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ ตามคำมั่นสัญญา

ไม่เช่นนั้นอองซานซูจีอาจจะต้องจัดตั้งระบบการกุมบังเหียนพรรค NLD เสียใหม่ พร้อมจัดตั้งคณะเสนาธิการรัฐบาล ทำงานอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีที่ชื่อถิ่นจอต่อไป.
 ถิ่น จอ โบกมือให้ผู้สื่อข่าว หลังได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า -- AFP
ล้อมกรอบ//

“ถิ่นจอ-ซูจี” จากเพื่อนร่วมชั้น สู่เพื่อนคู่คิด

นายถิ่น จอ เกิดในปี 2489 เป็นบุตรของกวีระดับชาติและเป็นลูกเขยของสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD รู้จักกับอองซานซูจีมาตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยบิดาของคนทั้งสองเป็นเพื่อนกัน จนกระทั่งได้มายืนเคียงข้าง คอยช่วยเหลืออองซานซูจีเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

ผู้นำคนใหม่เป็นคนติดดินเรียบง่าย ไม่ทำตัวโดดเด่น เป็นบุคคลนิรนามเพียงคนเดียว ที่มักปรากฏตัวให้เห็นอยู่ด้านหลังของอองซานซูจีในภาพถ่าย ในช่วงที่นางปรากฏตัวต่อสาธารณชน ขณะถูกควบคุมตัวในบ้านพัก ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2553

“ถิ่น จอ เป็นคนเงียบขรึม รักในวรรณกรรม เป็นคนพูดน้อย จริงใจซื่อสัตย์ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย” นายซอมินจอ ที่รู้จัก ประธานธิบดีคนใหม่ของพม่ามานานกว่า 20 ปี กล่าว

เรียนสำเร็จปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 2510 สำเร็จปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ปี 2511 ขณะทำงานเป็นอาจารย์ด้วย ในปี 2513 ได้ย้ายไปภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นเวลา 2 ปี และกลับเมียนมา ทำงานเป็นนักวิเคราะห์และโปรแกรมเมอร์ จนกระทั่งปี 2518

5 ปีต่อมา ถิ่นจอ เข้าทำงานที่สำนักงานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของรัฐบาล ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และลาออกในปี 2535 เป็นเพราะความเชื่อมโยงของครอบครัวกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งยังสนใจในการทำงานของพรรค NLD ซึ่งเวลานั้นรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าช่วยเหลืออองซานซูจี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ และกลายเป็นที่ปรึกษาสำคัญเกี่ยวกับการติดต่อกับรัฐบาลและสถานทูตต่างชาติของพรรค แม้ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารยังคงควบคุมความเคลื่อนไหวของพรรคก็ตาม

จุดหักเหในชีวิตของถิ่นจอ เกิดขึ้นในปี 2543 เมื่อคนของพรรค NLD ต้องการเดินทางไปทำกิจกรรมทางการเมืองที่เมืองมัณฑะเลย์ ถิ่นจอทำหน้าที่ขับรถไปส่งที่สถานีรถไฟย่างกุ้ง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะขายตั๋วให้และสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น

“แทนที่จะทิ้งซูจีไว้ที่สถานี แต่ถิ่นจอยังอยู่รอ เพราะเขารู้ว่าสถานการณ์ตอนนั้นไม่ดีนัก”ซอ มิน กล่าวและในท้ายที่สุดทุกคนก็ถูกจับกุม อองซานซูจีถูกควบคุมตัวในบ้านพัก คนอื่นๆ อีก 9 คนถูกจำคุกในเรือนจำอินเส่งเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง

ผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกล่าวว่า ตั้งแต่ลาออกจากงานรัฐบาล ถิ่นจอกลายเป็นคนเงียบขรึม ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอ่านและเขียนบทความ ปัจจุบันยังเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิการกุศลดอว์ขิ่นจี ของอองซานซูจีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชนอีกด้วย.
ชาวพม่านั่งดูการถ่ายทอดสดการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีพม่าจากรัฐสภา -- AFP


กำลังโหลดความคิดเห็น