เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สมาชิกรัฐสภาพม่าโหวตผู้ช่วยใกล้ชิด และเพื่อนสนิทของอองซานซูจี เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับประเทศที่เคยปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารแห่งนี้
ถิ่น จอ อายุ 69 ปี ได้คะแนนเสียง 360 จากทั้งหมด 652 เสียง จากสองสภาที่ปูทางให้เขาได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอองซานซูจี ที่ถูกห้ามจากตำแหน่งประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญของประเทศ
สมาชิกสภานิติบัญญัติต่างปรบมือยินดีเมื่อผลการลงคะแนนเสียงถูกประกาศออกมาหลังขั้นตอนการนับคะแนนด้วยมือที่ใช้เวลานานสิ้นสุดลง ในกรุงเนปีดอ
“ผมขอประกาศว่า ถิ่น จอ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงมากที่สุด” มาน วิน ข่าย ถั่น ประธานรัฐสภา กล่าว
“ผลในวันนี้เป็นเพราะความรักของประชาชนที่มีต่อเธอ นี่เป็นชัยชนะของพี่อองซานซูจี” ถิ่น จอ กล่าวต่อรอยเตอร์หลังการลงคะแนน
“นี่เป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา นี่เป็นสิ่งที่เราหวังไว้มานาน” ซาน นี มีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค NLD กล่าว
พม่าอยู่ในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นประเทศโดดเดี่ยวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างอย่างรวดเร็ว
ในเดือน พ.ย.2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทำให้พรรคของซูจี เข้าครองทั้งสภาสูง และสภาล่าง แต่ทหารก็ยังคงมีอำนาจในประเทศและปฏิเสธที่จะแก้ไขมาตราในรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ
แต่ซูจี ได้ให้คำมั่นว่า จะปกครองอยู่เหนือผู้นำคนต่อไป ซึ่ง ถิ่น จอ ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นั้นด้วยซูจีเชื่อในความจงรักภักดีของเขา
ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่าจะเข้าแทนที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งในปลายเดือน หลังนำรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่ทหารให้การสนับสนุนมานาน 5 ปี และได้รับการยกย่องว่านำพาประเทศออกจากเงามืดของการปกครองโดยทหาร
ส่วนผู้สมัครอีก 2 คน คือ มี้น ฉ่วย อดีตนายพลเกษียณราชการที่เป็นผู้สมัครจากฝ่ายทหาร และยังอยู่ในรายชื่อคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และเฮนรี วันเทียว สมาชิกรัฐสภาชาติพันธุ์ชิน ที่ลงรับเลือกในวันนี้ด้วยนั้น จะทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีร่วมกัน โดย มี้น ฉ่วย ได้คะแนนเสียงไป 213 เสียง ขณะที่ เฮนรี วันเทียว ได้คะแนนเสียงไป 79 เสียง
คะแนนเสียงของมี้น ฉ่วย ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายทหารที่ครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภา และจากพรรคการเมืองที่กองทัพให้การสนับสนุน
ซูจี ในวัย 70 ปี ได้รับความนิยมอย่างหาคู่แข่งไม่ได้ ทั้งด้วยเป็นลูกสาวของวีรบุรุษที่นำพาประเทศเป็นเอกราช และเป็นบุคคลที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ
ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคในการเลือกตั้งถูกมองว่า เป็นการสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของเธอ เมื่อประชาชนหลายล้านคนตบเท้าลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้งด้วยข้อความที่เรียบง่ายของพรรคว่าการเปลี่ยนแปลง
การเจรจาต่อรองนานหลายเดือนกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ไม่ประสบความสำเร็จที่จะขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางเธอจากอำนาจ
ซูจี ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศได้ตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้น เพราะซูจี สมรส และมีทายาทเป็นชาวต่างชาติ
ยังคงไม่ชัดเจนว่า ซูจี วางแผนจะดำเนินการ หรือจะจัดการความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศอย่างไร
ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีกำหนดประกาศในปลายเดือนนี้ และเป็นที่คาดกันว่า จะประกอบด้วยบุคคลจากทั่วแวดวงการเมือง เมื่อซูจี พยายามที่จะส่งเสริมความปรองดองในชาติ ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่จะเผชิญต่อความท้าทายมากมายของประเทศ ทั้งปัญหาความยากจน สงครามกลางเมืองในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมสภาพ
สมาชิกอาวุโสของพรรค NLD รายหนึ่งกล่าวว่า หนึ่งในภารกิจแรกของรัฐบาลคือ การปรับลดกระทรวงที่มีอยู่มากมาย ด้วยการรวมกระทรวงที่มีเนื้องานทับซ้อนเข้าด้วยกัน