รอยเตอร์ - กองทัพพม่าตั้งคำถามกับตัวเลือกสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีของอองซานซูจี เมื่อวันจันทร์ (14) ท่ามกลางความตึงเครียดที่คุกรุ่นระหว่างสองฝ่าย ก่อนที่รัฐสภาจะลงคะแนนเสียงว่าใครควรได้ครองตำแหน่งสูงสุดของประเทศในวันนี้ (15)
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทหารพม่า และซูจี จะเป็นสิ่งที่กำหนดความสำเร็จหรือในทางตรงกันข้าม นับตั้งแต่พม่าหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่เข้ายึดอำนาจในปี 2505 แม้รัฐธรรมนูญห้ามซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีก็ตาม
อองซานซูจี ระบุว่า เธอจะบริหารประเทศไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็ตาม และตัวเลือกของเธอดูจะเป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับการรับรองจากรัฐสภา ด้วยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาหลังชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. อย่างถล่มทลาย
เมื่อสัปดาห์ก่อน พรรค NLD เลือก ถิ่น จอ (Htin Kyaw) เพื่อนสนิทของซูจี เป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเฮนรี วันเทียว เป็นรองประธานาธิบดี ที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จำนวนมากของประเทศ ส่วนกองทัพที่ครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา เสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งคนที่ 3
เมื่อวันจันทร์ (14) สมาชิกคณะกรรมการรัฐสภาที่เป็นนายทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบผู้สมัครไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่ ถิ่น จอ เพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติก็ตาม
พล.ต.ตัน โซ สมาชิกรัฐสภานายทหาร คัดค้าน เฮนรี วันเทียว เพราะกองทัพต้องใช้เวลาในการตรวจสอบว่าการพักอาศัยอยู่ต่างประเทศทำให้เขาขาดคุณสมบัติหรือไม่ ตามการเปิดเผยของ มาน วิน ข่าย ถั่น ประธานรัฐสภา
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครทุกคนได้รับการรับรอง เนื่องจากพรรค NLD มีอำนาจเหนือคณะกรรมการ แต่การไม่ยอมรับของกองทัพได้เน้นให้เห็นถึงรอยร้าวระหว่างซูจี และกองทัพ ขณะที่พรรคของเธอเตรียมที่จะครองอำนาจในวันที่ 1 เม.ย.
“เราจะมีประธานาธิบดีที่เป็นประชาธิปไตยในวันพรุ่งนี้ (15) ประชาชนจะมีอำนาจเหนือกว่า” ซอ เต่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค NLD กล่าว
ซูจี ได้ทำให้ชัดเจนว่าเธอจะบริหารประเทศผ่านประธานาธิบดีตัวแทน
แหล่งข่าวในค่ายของซูจี กล่าวว่า ซูจีผิดหวังต่อความหัวแข็งไม่ยอมประนีประนอมของกองทัพต่อประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงพิธีการเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่จัดพิธีส่งมอบอำนาจ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค NLD กล่าวส่วนตัวว่า มี้น ฉ่วย ตัวเลือกของกองทัพ เป็นผู้สมัครที่ขัดต่อจิตวิญญาณของความปรองดอง ที่ซูจีกำลังพยายามส่งเสริม
มี้น ฉ่วย เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับทางทหารในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร และอยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ หากการลงคะแนนเสียงในวันอังคาร (15) เป็นไปอย่างที่คาดไว้ เขาจะกลายเป็นรองประธานาธิบดี 1 ใน 2 คน
ในความเห็นของประชาชนครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตัวมี้น ฉ่วย พลจัตวาทิน ซาน นาย โฆษกฝ่ายทหารในรัฐสภา กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า ซูจี เป็น “เหมือนชาวต่างชาติ” เมื่อถูกถามว่า กองทัพวางแผนที่จะทำงานกับ NLD อย่างไร
พลจัตวาทิน ซาน นาย ยังย้ำถึงการคัดค้านของกองทัพต่อการเปลี่ยนแปลงใดต่อรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้น ที่ห้ามซูจี จากการทำหน้าที่ประธานาธิบดีเพราะลูกของเธอเป็นชาวอังกฤษ
“เธอไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ เพราะเธอมีความผูกพันกับต่างประเทศ มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ” ทิน ซาน นาย กล่าว
ดร.ซอ มี้น หม่อง โฆษกพรรค NLD และแกนนำอาวุโสของพรรค คัดค้านความคิดเห็นดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า นายพลอองซาน บิดาของซูจี เป็นผู้ก่อตั้งกองทัพสมัยใหม่ของประเทศ
“นายพลอองซาน เป็นบิดาของทหาร อองซานซูจีเกิดจากพลเมืองพม่าทั้ง 2 คน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเขาเห็นเธอเป็นชาวต่างชาติ” ดร. ซอ มี้น หม่อง กล่าวต่อรอยเตอร์
ทิน ซาน นาย ไม่สนใจต่อคำแนะนำที่ว่า มี้น ฉ่วย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้นำเผด็จการตาน ฉ่วย เป็นผู้สมัครสายแข็งกร้าว โดยระบุว่า มี้น ฉ่วย นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมต่องาน
“เขามีประสบการณ์ทางทหาร และการปกครอง“ ทิน ซาน นาย กล่าว
ประธานาธิบดีจะเลือกคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าทำหน้าที่แทนรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งในวันที่ 1 เม.ย. ยกเว้นแต่รัฐมนตรีของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน ที่จะถูกแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด.