xs
xsm
sm
md
lg

พรรคซูจีทบทวนโครงการเขื่อนจีน-ยกเลิกสิทธิพิเศษกิจการทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> อองซานซูจี (กลาง) เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ยังอาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเมือง ในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรค NLD เผยว่า พรรคกำลังพิจารณาทบทวนโครงการเขื่อนมิตโสนที่จีนสนับสนุนซึ่งถูกระงับการดำเนินการไปในช่วงปี 2554 โดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง และพรรคกำลังหาทางที่จะยุติสิทธิพิเศษของกิจการทหารที่ได้รับในสมัยรัฐบาลเผด็จ ด้วยต้องการให้ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - รัฐบาลของอองซานซูจี ที่จะเข้ารับหน้าที่ในเร็วๆ นี้ กำลังทบทวนพิจารณาโครงการเขื่อนที่จีนสนับสนุนในพม่า และมองหาหนทางที่จะยุติสิทธิพิเศษของกิจการทหาร ตามการเปิดเผยของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคอองซานซูจี

รัฐบาลใหม่ของซูจี ที่คาดว่าจะเข้าบริหารประเทศในเดือน เม.ย. จะเผชิญต่อความท้าทายด้านเศรษฐกิจหลายขนาน ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่จะต้องจัดการต่อความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนกับจีน ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ

นักวิจารณ์ต่างถกเถียงกันมายาวนานว่า ชนชั้นนำในกองทัพพม่าร่ำรวยขึ้นจากความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ที่มอบสัมปทานให้แก่เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางเหนือแลกกับผลประโยชน์

ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้ชี้แจงรายละเอียดนโยบายของพรรคเพียงเล็กน้อยในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่กินเวลายาวนานนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเดือน พ.ย.

แต่ หันตา มี้น หัวหน้าคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรค NLD กล่าวว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกำลังคาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจับต้องได้

“ประชาชนตั้งความหวังไว้สูงมากๆ และหากเราประพฤติมิชอบในทางใดทางหนึ่ง ก็เท่ากับทำลายความหวังของประชาชน” หันตา มี้น ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่พรรคในนครย่างกุ้ง

ขณะที่เน้นย้ำว่า ซูจี จะเป็นผู้ตัดสินใจนโยบาย แต่หันตา มี้น กล่าวว่า การออกแบบโครงการเขื่อนมิตโสน มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในรัฐกะฉิ่นขึ้นใหม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ด้วยวิศวกรได้แสดงความวิตกถึงความใกล้ชิดกันระหว่างเขื่อนกับแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ซึ่งควรที่จะประนีประนอมเพื่อลดความเสี่ยง

“หากเราปฏิเสธที่จะสร้างเขื่อนที่มิตโสน เราก็ยังสามารถสร้างเขื่อนที่อื่นได้อยู่” หันตา มี้น กล่าว

โครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสนถูกระงับลงในปี 2554 โดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ท่ามกลางการคัดค้านอย่างกว้างขวาง และข้อตกลงหยุดยิง 17 ปี กับกบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในท้องถิ่นที่ล่มสลายลง

เมื่อวันอังคาร (8) หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ยืนยันว่า โครงการเขื่อนได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติอย่างสมบูรณ์แล้ว

หันตา มี้น ยังกล่าวอีกว่า ถึงเวลาที่บริษัท Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) -- กิจการของทหารที่ดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจหลากหลาย เช่น การก่อสร้าง การขนส่ง และการผลิตเครื่องดื่ม จะลงแข่งในสนามที่ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน

“MEHL ได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า แต่เราไม่สามารถให้สิทธิพิเศษเหล่านั้นแก่พวกเขาได้”

บริษัท Myanmar Economic Corporation อีกหนึ่งธุรกิจหลักของทหาร ยังคงอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของพลเรือนเช่นกัน

แม้ซูจี ถูกห้ามทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เธอได้ให้คำมั่นว่าจะปกครองอยู่เหนือประธานาธิบดีตัวแทน

ซูจี ได้แสดงให้เห็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการต่อทั้งกองทัพ และโครงการที่จีนสนับสนุน จากการนำสอบสวนในโครงการเหมืองทองแดงเล็ตปะด่อง ที่เมืองโมนยวา ที่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง MEHL และบริษัทวานเป่าของจีน หลังเกิดเหตุปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงของตำรวจในปี 2555

การตรวจสอบแม้จะสร้างความไม่พอใจในหมู่นักเคลื่อนไหว หลังมีคำแนะนำให้การก่อสร้างดำเนินการต่อไป แต่ก็ยังมีคำแนะนำอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ที่หันตา มี้น กล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะดำเนินการทบทวน

บริษัทวานเป่า วางแผนที่จะเริ่มการผลิตในเดือน พ.ค. ในความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณความท้าทายล่วงหน้าต่อรัฐบาล NLD และโฆษกของบริษัทวานเป่า ยังกล่าวว่า รัฐบาลใหม่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหา และจัดการต่อการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรท้องถิ่นที่ไม่พอใจโครงการเหมืองได้

เย ตุ๊ต โฆษกรัฐบาลเต็งเส่ง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ระงับโครงการเพิ่มอีก 68 โครงการเมื่อไม่นานนี้ เช่นเดียวกับเขื่อนมิตโสน เพื่อให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น