เอเอฟพี - กองทัพพม่าจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในวันนี้ (12) หลังเสนอชื่อนายพลเกษียณราชการที่ยังมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ เป็นวาที่รองประธานาธิบดีของรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศ
มี้น ฉ่วย อายุ 64 ปี ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับ พล.อ.ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร และมาจากกองทัพที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะยากจนภายใต้การปกครองที่โดดเดี่ยวประเทศจากโลกภายนอกนานหลายทศวรรษ
เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน รัฐสภาที่ถูกครอบครองโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี จะได้ยืนยันตัวประธานาธิบดี หลังกวาดชัยชยะในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. แต่กองทัพเองก็มีสิทธิที่จะเสนอผู้ชิงตำแหน่งได้ 1 ชื่อ
แม้ว่า ถิ่น จอ ผู้ถูกเสนอชื่อของพรรค NLD มีแนวโน้มสูงมากว่าจะครองตำแหน่งสูงสุดของประเทศ แต่มี้น ฉ่วย จากกองทัพก็จะยังคงเป็นหนึ่งในรองประธานาธิบดี 2 คนของประเทศ
สื่อสังคมออนไลน์ และเว็บบอร์ดแสดงความเห็นเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ หลังการประกาศชื่อบุคคลที่กองทัพเสนอชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี หลายคนแสดงความรู้สึกเสียใจที่กองทัพยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
“แม้ว่าเราหวังที่จะได้เห็นรัฐบาลพลเรือน แต่เราก็ยังต้องยอมรับโจรอยู่ดี” อ่อง จอ อู ผู้แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กรายหนึ่ง กล่าว
ซอ ลิน แสดงความเห็นว่า “ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมกองทัพยังเลือกคนที่ประชาชนไม่ต้องการ”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า มี้น ฉ่วย ที่ในเวลานี้ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีนครย่างกุ้ง ยังถูกคว่ำบาตร แต่ไม่ได้กล่าวว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตหรือไม่อย่างไร
สหรัฐฯ เริ่มคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าหลังรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าครองอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 และเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง
แต่นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงหลายสิบคน รวมทั้ง มี้น ฉ่วย ยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจร่วมกับคนกลุ่มนี้
ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมในบทบาทของนายพลเกษียณผู้นี้ เนื่องจากเขาเคยถูกตัดสิทธิจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2555 เพราะมีลูกเขยเป็นชาวออสเตรเลีย
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นของพม่าห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีญาติใกล้ชิดเป็นชาวต่างชาติรับตำแหน่งระดับสูงของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้อองซานซูจีไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ แม้ว่าจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
อองซานซูจี ที่มีลูกชายเป็นชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เธอจะปกครองอยู่เหนือประธานาธิบดี
ส่วนตัวเลือกของซูจี ที่จะให้ทำหน้าที่แทนนั้น คือ ถิ่น จอ เพื่อนสนิทใกล้ชิดของซูจี ที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะครองตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศหลังผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้
โฆษกของกองทัพปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นถึงการหลบเลี่ยงบทบัญญัติเกี่ยวกับพลเมืองต่างชาติของตัวแทนจากกองทัพ ที่หลายคนสงสัยว่า ถูกเขียนขึ้นเพื่อมุ่งโจมตีอองซานซูจี
“เราสามารถยืนยันได้เพียงแค่ว่า เขาเป็นผู้ที่กองทัพเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดี และเราไม่สามารถแสดงความเห็นในประเด็นอื่นๆ ได้” พ.อ.ขิ่น หม่อง จอ โฆษกกองทัพ กล่าว.