รอยเตอร์ - พม่าจะประกาศรายชื่อผู้ถูกเสนอเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศในวันที่ 10 มี.ค.นี้ ตามการเปิดเผยของประธานสภาสูง ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 1 สัปดาห์ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ยาวนานของประเทศที่เข้าสู่ช่วงขั้นตอนสุดท้าย
ข่าวล่าสุดนี้มีขึ้นหลังการพบหารือถึง 3 ครั้ง เกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจระหว่าง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย และอองซานซูจี ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะมีอำนาจในรัฐบาลชุดใหม่หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.
การพบหารือระหว่างผู้บัญชาการกองทัพพม่า และอองซานซูจี เป็นที่คาดกันว่าการเจรจาน่าจะเกี่ยวข้องต่อการอนุญาตให้ซูจี เป็นประธานาธิบดี แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุห้าม และกองทัพแสดงออกชัดเจนว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรีบด่วนเพื่อขจัดอุปสรรค
“วันที่สำหรับการประชุมเลือกประธานาธิบดีขยับเร็วขึ้น 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 10 มี.ค.” มาน วิน ข่าย ถั่น ประธานสภาสูง กล่าว
พรรค NLD กวาดที่นั่งถึง 80% ของสภาในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. มากพอที่จะผลักดันประธานาธิบดีของตัวเอง แต่ซูจี ถูกขัดขวางจากการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี เนื่องจากทายาทของซูจี ไม่ใช่พลเมืองพม่า
พรรค NLD ไม่มีหมายเลข 2 ต่อจากซูจี ที่ได้กล่าวว่า เธอจะควบคุมรัฐบาลเหนือประธานาธิบดี และข่าวลือได้ก่อตัวเกี่ยวกับผู้ที่จะมานั่งในตำแหน่งดังกล่าว
ในวันที่ 10 มี.ค. สภาสูง และสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของแต่ละสภา ขณะที่สมาชิกรัฐสภาที่เป็นนายทหารซึ่งได้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภา จะเสนออีก 1 ชื่อ โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อครบทั้ง 3 ชื่อ การประชุมร่วมกันของ 2 สภาจะมีขึ้นเพื่อเลือกประธานาธิบดี ส่วนผู้สมัครอีก 2 คนที่เหลือจะกลายเป็นรองประธานาธิบดี หลังจากนั้น ประธานาธิบดีจะเป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ารับหน้าที่แทนรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในวันที่ 1 เม.ย.
แต่ยังไม่แน่ชัดว่า การเลือกประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับการประกาศรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่
นักวิเคราะห์รายหนึ่งมองว่า กระบวนการที่ถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการหารือระหว่างกองทัพ และ NLD เกี่ยวกับการเป็นประธานาธิบดีของซูจีนั้นไม่มีความคืบหน้า.