รัฐสภาเมียนมาร์หรือพม่า ลงมติเลือก “ ถิ่นจอ” เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง สองสภารวมกัน 360 เสียงจากทั้งหมด 652 เสียง นับเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเมียนมาร์ ในรอบครึ่งศตวรรษ
ถิ่นจอ อายุ 69 ปี เป็นคนสนิทของอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD - National League of Democracy) ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ซูจี เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดยรัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อปี 2551 ในช่วงที่เมียนมาร์ กำลัง “เปลี่ยนผ่าน” ตามโรดแมปปฏิรูปการเมือง จากระบบเผด็จการเต็มรูปแบบ เข้าสู่ยุค รัฐบาลกึ่งพลเรือนกึ่งทหาร มีข้อบัญญัติห้าม บุคคลที่มีคู่สมรส หรือบุตร ที่เป็นพลเมืองต่างชาติ เป็นประธานาธิบดี
เป็นข้อห้ามที่เขียนขึ้นเพื่อดักทางไม่ให้ซูจีเป็นประธานาธิบดีโดยตรง เพราะ ซูจีแต่งงานกับ ไมเคิล อารีส ชาวอังกฤษ มีบุตรชาย 2 คน ซึ่งถือสัญชาติอังกฤษตามพ่อ
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ปีที่แล้ว ซูจี เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยให้ยกเลิกบทบัญญติดังกล่าว รวมทั้งการให้กองทัพ มีโควตา สมาชิกสภาสูงและสภาล่าง จำนวน 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด
ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ซูจีประกาศว่า เธอจะเป็นผู้นำที่อยู่เหนือประธานาธิบดี
หลังการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ซูจีเจรจากับผู้นำทหารหลายครั้ง เพื่อให้มีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของประธานาธิบดี แต่ใม่มีการตอบรับใดๆจากทางกองทัพ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ดังนั้น หากกองทัพไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะทหารมีที่นั่งในสองสภารวมกัน 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด
จึงเป็นที่มาของ ประธานาธิบดีตัวแทน หรือ หุ่นเชิดของซูจี คือ ถิ่นจอ ซึ่งแทบไมมีใครรู้จักเลย
ในช่วงที่ซูจีถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน ถิ่นจอ เป็นคนที่คอยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และเป็นผู้ช่วยในการติดต่อกับโลกภายนอกของซูจี หลังจากได้รับอิสรภาพ ถิ่นจออยู่เคียงข้างซูจีตลอดเวลา เขาจึงเป็นคนใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางจากซูจีมากที่สุด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ซูจีเลือกเขาเป็นประธานาธิบดีแทนตัวเอง
ถิ่นจอเป็นลูกชายของนักเขียนและกวีระดับชาติของพม่า ซึ่งเป็นนักการเมืองด้วย ตัวเขาเองก็เป็นนักเขียนด้วยเช่นกัน ภรรยาของถิ่นจอ เป็นลูกสาวผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีคนหนึ่ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึงมีบทบาทสำคัญในพรรคเอ็นแอลดีด้วย
สำหรับชาวเมียนมาร์แล้ว การมีประธานาธิบดีคนใหม่ ที่เป็นเพียงหุ่นเชิดของซูจี ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะพวกเขารู้ว่า ผู้นำตัวจริงที่อยู่เหนือถิ่นจอ คือ ซูจี คนที่พวกเขาเชื่อมั่น และเลือกให้เป็นนผู้นำคนใหม่ เมื่อซูจีไม่สามารถเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการได้ด้วยตัวเอง ชาวเมียนมาร์ก็พร้อม ยอมรับในวิธีการของซูจี ในการบริหารประเทศผ่านตัวแทน
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อองซานซูจี ซึ่งก้าวขึ้นมาเล่นบทผู้นำเต็มตัว จะทำให้พวกเขาผิดหวังหรือไม่ ?