เอเจนซีส์ - พรรคเอ็นแอลดีเสนอชื่อคนสนิท อองซาน ซูจี ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่า ปิดฉากการรอคอยและคาดเดานาน 4 เดือน และด้วยการครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาของเอ็นแอลดี จึงค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า “นอมินี” ของซูจี จะได้ขึ้นบริหารประเทศ โดยกำหนดการลงมติเพื่อเลือกประธานาธิบดีจะยังไม่มีขึ้นอย่างน้อยจนถึงวันจันทร์หน้า (14)
วันพฤหัสฯ (10) พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) เสนอชื่อ ถิ่น จอ ที่ร่วมเป็นสมาชิกพรรคเมื่อสองเดือนที่แล้ว เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามสภาผู้แทนราษฎร
ถิ่น จอ อาจารย์มหาวิทยาลัย วัย 69 ปี เป็นเพื่อนนักเรียนและครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่คนขับรถของซูจี ผู้นำเอ็นแอลดี นอกจากได้ชื่อว่าเป็นคนวงในใกล้ชิดซูจีแล้ว ถิ่น จอ ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและต่างประเทศ ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และ 1980 ก่อนลาออกจากราชการขณะที่กองทัพกระชับอำนาจมากขึ้น
ปัจจุบัน ถิ่น จอ เป็นผู้บริหารอาวุโสมูลนิธิดอว์ ขิ่น จี ของซูจี ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อมารดาของผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยผู้นี้
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่กองทัพร่างขึ้น ซูจีไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ เนื่องจากมีบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติ และซูจีประกาศก่อนหน้านี้ ว่า จะปกครองประเทศผ่าน “นอมินี”
การเสนอชื่อ ถิ่น จอ นอกจากจะสะท้อนความไว้วางใจในความจงรักภักดีของชายผู้นี้แล้ว ยังบ่งชี้ว่า ซูจี เชื่อว่า ถิ่น จอ มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับการต้อนรับจากผู้มีสิทธิออกเสียงนับล้านที่แสดงพลังส่งให้เอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเกินความคาดหมายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ชัยชนะดังกล่าวที่ทำให้เอ็นแอลดีครองเสียงข้างมาก ทั้งในสภาสูงและสภาล่างเท่ากับเป็นการการันตี ว่า ถิ่น จอ จะได้เป็นผู้นำรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของพม่านับจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 1962 ค่อนข้างแน่นอน
ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสฯ ก่อนการเสนอชื่อ ถิ่น จอ ซูจีเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนอดทนและยืนหยัดเคียงข้างเอ็นแอลดีต่อไป พร้อมยืนยันว่า พรรคของเธอมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด
อนึ่ง ภายใต้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อมของพม่านั้น จะมีการเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่ง 3 คน ประกอบด้วยตัว แทนจากสภาล่าง 1 คน, สภาสูง 1 คน และอีก 1 คนจากกลุ่มทหารในสภาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ครองที่นั่ง 1 ใน 4 ในทั้งสองสภา
หลังจากผู้สมัครทั้งหมดได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการรัฐสภาแล้ว ทั้งสองสภาจะประชุมร่วมกันเพื่อลงมติเลือกประธานาธิบดี โดยผู้ที่ไม่ได้รับเลือกอีก 2 คนจะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ความที่ครองเสียงข้างมากขาดลอยในทั้งสองสภา เอ็นแอลดีจึงสามารถผูกขาดการเสนอชื่อผู้สมัครของทั้งสภาสูงและสภาล่าง
ในส่วนผู้สมัครที่เป็นตัวแทนจากวุฒิสภานั้น เอ็นแอลดีเสนอชื่อ เฮนรี่ วันเทียว สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ชินจากรัฐชิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดกับอินเดีย และบังกลาเทศ เนื่องจากต้องการให้วันเทียวนั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดี เพื่อเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามเป้าหมายของซูจีในการตั้งรัฐบาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
สำหรับตัวแทนจากกลุ่มทหารในสภานั้น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า น่าจะเป็น เต๊ต ฉ่วย อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ ที่ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปีก่อน เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งที่เกาะโกโก อย่างไรก็ดี ไม่มีตัวแทนของกลุ่มทหารในสภาไปปรากฏตัวที่อาคารรัฐสภาในช่วงเช้าวันพฤหัสฯ แต่อย่างใด
ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศต่อจากประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่จะหมดวาระในวันที่ 1 เมษายนนี้ ยกเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และกิจการชายแดน ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะเป็นผู้แต่งตั้ง
สำหรับกำหนดการเลือกประธานาธิบดีนั้น ผู้อำนวยการในรัฐสภาเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9) ว่า จะยังไม่มีขึ้นอย่างน้อยจนถึงวันจันทร์หน้า (14)